เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./5744
วันที่: 11 มิถุนายน 2550
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการจัดนำเที่ยวต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:       บริษัท A ประกอบธุรกิจให้บริการนำนักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ โดยบริษัทฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการติดต่อให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งหมด ทั้งในส่วนที่ดำเนินการในประเทศไทยได้แก่ การซื้อตั๋วเครื่องบินการขอวีซ่าผ่านเข้าประเทศ รวมทั้งการชำระค่าธรรมเนียมต่างๆ ส่วนที่ดำเนินการในต่างประเทศ เช่น การจองโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร การซื้อค่าบัตรเข้าชมสถานที่ต่างๆ การติดต่อยานพาหนะเพื่อขนส่ง และมัคคุเทศก์ เป็นต้น ตัวอย่าง การขายทัวร์ไปยุโรปให้กับลูกค้า 1 ราย โดยลูกค้าต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 70,000 บาท ซึ่งสามารถแยกรายการค่าใช้จ่ายที่ลูกค้าต้องจ่ายออกได้ดังนี้
        ค่าขอวีซ่า (ไม่รวมค่าบริการ) บวกค่าภาษีสนามบินประเทศไทย 2,500 บาท
        ค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน ค่าภาษีเชื้อเพลิง ภาษีสนามบินยุโรป 35,700 บาท
        ค่าใช้จ่ายต่างประเทศ 30,300 บาท
        (ค่าอาหาร โรงแรม ค่าบัตรเข้าชมสถานที่ต่างๆ ค่าขนส่ง และค่ามัคคุเทศก์)
        ค่าบริการที่บริษัทฯ เป็นผู้ติดต่อให้กับลูกค้าทุกเรื่อง 1,500 บาท
        (เป็นรายได้ของบริษัทฯ เอง)
        โดยลูกค้าจะต้องจองทัวร์ล่วงหน้าก่อนเดินทางออกจากประเทศไทยอย่างน้อย 30 วัน หลังจากนั้นบริษัทฯ ก็จะดำเนินการติดต่อต่างๆ ข้างต้น และจะแจ้งให้ลูกค้านำเงินมาชำระยอดรวมทั้งหมด 70,000 บาท ประมาณ 2 อาทิตย์ก่อนวันเดินทาง ทั้งนี้ สำหรับเงิน 68,500 บาท บริษัทฯ จะได้นำไปเป็นค่าใช้จ่ายตามรายการที่ 1 - 3 ตามที่ต้องจ่ายจริงทั้งหมด โดยเฉพาะสำหรับค่าตั๋วเครื่องบินนั้น ในการออกหลักฐานใบเสร็จการชำระเงินและใบกำกับภาษี บริษัทฯ จะแจ้งให้บริษัทผู้ขายตั๋วเครื่องบินออกใบเสร็จค่าตั๋วเครื่องบินและใบกำกับภาษีโดยระบุชื่อลูกค้าเป็นผู้ซื้อตั๋ว และบริษัทฯ จะส่งมอบใบเสร็จและใบกำกับภาษีดังกล่าวให้แก่ลูกค้า ดังนั้น ลูกค้าจึงสามารถทราบอย่างแน่นอนว่า ค่าตั๋วเครื่องบินนั้นมีราคาเท่าไร จากตัวอย่างข้างต้น มีเพียงค่าบริการ 1,500 บาท ตามรายการที่ 4 เท่านั้นที่เป็นรายได้ของบริษัทฯ ดังนั้น บริษัทฯ จึงขอทราบว่า ฐานภาษีที่ใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการจัดนำเที่ยวต่างประเทศของบริษัทฯ นั้น ควรจะเป็นยอดรายได้หักรายจ่ายที่คงเหลือได้รับจริงเพียง 1,500 บาท หรือจะต้องคำนวณจากยอดรวมทั้งหมด 70,000 บาท
แนววินิจฉัย:          ภาระภาษีสำหรับการประกอบธุรกิจนำเที่ยวรับบริการนำนักท่องเที่ยวเดินทางไปท่องเที่ยวยังต่างประเทศ (out-bound) ในกรณีผู้ประกอบการคิดค่าบริการ นำเที่ยวเป็นการเหมา (package tour) และในกรณีผู้ประกอบการมิได้คิดค่าบริการนำเที่ยวเป็นการเหมาในการพิจารณาว่าผู้ประกอบการที่รับจัดนำเที่ยวได้คิดค่าบริการนำเที่ยวเป็นการเหมา (package tour) หรือไม่ ให้พิจารณาสัญญาเป็นสาระสำคัญ กรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้น บริษัทฯ คิดค่าตอบแทนจากการจัดนำเที่ยวแต่ละครั้ง ประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายทั้งส่วนที่แจกแจงรายละเอียดให้ลูกค้าทราบ และส่วนที่คิดค่าบริการเป็นการเหมา หากบริษัทฯ มีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ค่าตอบแทนส่วนใดที่บริษัทฯ มีการแจกแจงค่าใช้จ่ายให้แก่ลูกค้าทราบ โดยแยกรายละเอียดค่าใช้จ่ายชัดแจ้ง ซึ่งบริษัทฯ อาจเรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายแต่ละรายการจากลูกค้าล่วงหน้าเป็นจำนวนเฉพาะเท่ากับที่จะต้องจ่ายจริง หรืออาจทดลองจ่ายเงินค่าใช้จ่ายนั้นไปก่อน แล้วจึงเรียกเก็บคืนจากลูกค้าเป็นจำนวนเท่ากับที่ต้องจ่ายไปจริง เช่น ค่าตั๋วเครื่องบินที่เรียกเก็บจากลูกค้าเท่ากับที่ต้องจ่ายจริง โดยให้ผู้ประกอบการขายตั๋วเครื่องบินออกหลักฐานใบเสร็จและใบกำกับภาษีเป็นชื่อของลูกค้า และบริษัทฯ ได้ส่งมอบเอกสารดังกล่าวให้แก่ลูกค้า เป็นต้น ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ซึ่งบริษัทฯ เรียกเก็บล่วงหน้าหรือเรียกเก็บคืนจากลูกค้าเท่ากับจำนวนที่ได้จ่ายไปจริง จึงไม่ต้อง นำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด สำหรับค่าบริการส่วนอื่นที่มีลักษณะเป็นการเหมาซึ่งไม่สามารถแจกแจงรายละเอียดให้ลูกค้าทราบได้ว่าเป็นค่าอะไร จำนวนเท่าใด และไม่มีหลักฐานการจ่ายมาแสดง ค่าบริการส่วนอื่นดังกล่าวที่บริษัทฯ เรียกเก็บจากลูกค้าต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 70/35012

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020