เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/5764
วันที่: 11 มิถุนายน 2550
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 82/3 และมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:       บ.A ได้หารือเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้
        1. บ.A เป็นนิติบุคคลจดทะเบียน ณ ประเทศเกาหลี ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจบริการออกแบบ ก่อสร้าง จัดหาและติดตั้ง Standby Stabilizer Unit Project ให้แก่บริษัท ป. จำกัด ตามสัญญา ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2548
        2. บ.A ประเทศไทย จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2549 ประกอบกิจการ รับเหมาก่อสร้างโรงงาน ติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องจักร ออกแบบโรงงานและบำรุงรักษาซ่อมแซมเครื่องจักรทุกชนิด
        3. ตามสัญญาระหว่าง บ.A กับ บริษัทคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้กำหนดให้ใช้ราคาเหมาจ่ายโดยให้รวมถึงการจัดหายานพาหนะ เครื่องมืออุปปกรณ์ สถานที่ก่อสร้าง เครื่องจักรทุกชนิด และวัสดุ (นอกจากที่จัดหาจาก บริษัท ค่าบริหารงานและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง) เมื่อถึงกำหนดชำระเงินตามงวดงาน บริษัทจะทำการชำระเงินให้โดยคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 และภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบริการ จากเงินงวดงานที่ถึงกำหนดชำระ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ โอนให้ บ.A ประเทศเกาหลี เพื่อจัดซื้อวัสดุและบริหารงานตามโครงการที่ได้ทำสัญญา และชำระให้ บ.A ประเทศไทย เมื่อ บ.A ประเทศเกาหลี ได้สั่งซื้อวัสดุอุปกรณ์แล้ว จะทำการจัดส่งให้แก่ บ.A ประเทศไทย นำเข้าเพื่อดำเนินงานตามโครงการ
        4. บ.A ประเทศไทย ขอทราบว่า กรณีวัสดุตามใบขนสินค้าที่ บ.A ประเทศเกาหลี ได้ซื้อและส่งให้ บ.A ประเทศไทย นั้น บ.A ประเทศไทย สามารถนำมูลค่าสินค้าตามใบขนสินค้าดังกล่าวไปลงในรายงานภาษีซื้อ ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย:         บ.A ประเทศไทย เป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศเกาหลี ประกอบธุรกิจบริการออกแบบ ก่อสร้างจัดหาและติดตั้ง Standby Stabilizer Unit Project ให้แก่ บริษัทตามสัญญา ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2548 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม2548 เมื่อถึงกำหนดชำระเงินตามงวดงาน บริษัทจะชำระเงินแบ่งเป็น 2 ส่วน คือให้แก่ บ.A ประเทศไทย และโอนเงินให้ บ.A ประเทศเกาหลี เพื่อจัดซื้อวัสดุและบริหารงานตามโครงการ เมื่อ บ.A ได้จัดซื้อวัสดุแล้ว จึงส่งให้ บ.A ประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าโดยชำระอากรขาเข้าและชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามใบเสร็จของกรมศุลกากร จึงถือว่า บ.A ประเทศไทย เป็นผู้นำเข้าสินค้า เนื่องจากในการชำระเงินตามงวดงานซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน โดยบริษัท ป. ได้ชำระเงินให้ บ.A ประเทศไทย ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งได้โอนเงินให้ บ.A ประเทศเกาหลี เป็นค่าซื้อวัสดุแทน บ.A ประเทศไทย ดังนั้น บ.A ประเทศไทย จึงเป็นผู้ซื้อสินค้า และเป็นผู้ชำระอากรขาเข้า พร้อมทั้งชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงมีสิทธินำมูลค่าสินค้าตามใบขนสินค้ามาบันทึกในรายงานภาษีซื้อ รวมทั้งนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้ชำระแล้วมาใช้เป็นภาษีซื้อได้โดยไม่เป็นภาษีซื้อต้องห้าม ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/3 และมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 17)ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534
เลขตู้: 70/35012

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020