เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ.5562
วันที่: 5 มิถุนายน 2550
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการให้บริการบริหารคลังสินค้าและขนส่งสินค้าภายในประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:       บริษัท ก. จำกัด (บริษัทฯ) แจ้งว่า บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการบริหารจัดการการกระจายสินค้า และบริการขนส่งสินค้า (Supply Chain Management) ให้แก่ลูกค้าภายในราชอาณาจักร โดยบริษัทฯ ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการขนส่งสินค้าไม่ประจำทาง ด้วยรถที่ใช้ในการขนส่งอุปกรณ์และสิ่งของของลูกค้า
        การประกอบกิจการของบริษัทฯ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ซึ่งมีรายละเอียดโดยสรุป ดังนี้
        ก. ลักษณะแรก บริษัทฯ ให้บริการบริหารจัดการคลังสินค้า ทั้งที่เป็นคลังสินค้าของลูกค้า และคลังสินค้าที่บริษัทฯ เช่าจากบุคคลที่สามเพื่อนำมาให้บริการกับลูกค้า พร้อมทั้งให้บริการขนส่งสินค้าออกจากคลังสินค้าดังกล่าวเพื่อส่งให้กับร้านค้าหรือตัวแทนจำหน่ายของลูกค้าอีกทอดหนึ่ง ในการให้บริการข้างต้น บริษัทฯ สามารถแยกค่าบริหารจัดการคลังสินค้า และค่าขนส่งสินค้าออกจากกันได้อย่างชัดเจน โดยบริษัทฯ จะออกใบแจ้งหนี้ค่าบริการบริหารจัดการคลังสินค้า และค่าขนส่งสินค้าออกจากกัน ตามอัตราค่าบริการที่ได้แบ่งแยกไว้อย่างชัดเจนตามสัญญาที่มีบริษัทฯ ได้ทำไว้กับลูกค้า
        ข. ลักษณะที่สอง บริษัทฯ ให้บริการขนส่งสินค้าจากโรงงานของผู้ผลิตสินค้าที่ลูกค้าซื้อสินค้าไว้ ไปยังโรงงานของลูกค้าโดยไม่ผ่านคลังสินค้าของบริษัทฯ (การส่งตรง)
        บริษัทฯ จึงขอทราบว่า บริษัทฯ มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการของบริษัทฯ รวมทั้งหน้าที่ในการออกใบกำกับภาษีหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย:      1. กรณีบริษัทฯ ให้บริการบริหารจัดการคลังสินค้า ไม่ว่าจะในคลังสินค้าของลูกค้าของบริษัทฯ หรือคลังสินค้าที่บริษัทฯ ได้เช่ามาจากบุคคลที่สามเพื่อนำมาให้บริการกับลูกค้า พร้อมทั้งให้บริการขนส่งสินค้าจากคลังสินค้าดังกล่าวให้กับลูกค้า นั้น บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการขนส่งเป็นปกติธุระ และบริษัทฯ ได้แยกการบริการจัดการคลังสินค้า ออกจากบริการขนส่งสินค้า รวมทั้งเรียกเก็บค่าบริการทั้งสองประเภทแยกออกจากกันอย่างชัดเจน ดังนั้น เฉพาะการให้บริการขนส่งสินค้า ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร ส่วนการให้บริการบริหารจัดการคลังสินค้าหรือการเก็บรักษาสินค้า เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยออกใบกำกับภาษี และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับค่าบริการดังกล่าวตามมาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 และมาตรา 82/4 แห่งประมวลรัษฎากร
       2. กรณีการให้บริการขนส่งสินค้าจากโรงงานของผู้ผลิตที่ลูกค้าของบริษัทฯ ซื้อสินค้าไว้ และคลังสินค้าของลูกค้าเอง โดยไม่ผ่านคลังสินค้าของบริษัท (การส่งตรง) เข้าลักษณะเป็นการให้บริการขนส่งสินค้าในราชอาณาจักร ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81(1)(ณ) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 70/34980

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020