เลขที่หนังสือ | : กค 0706/6106 |
วันที่ | : 21 มิถุนายน 2550 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และอากรแสตมป์ กรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 420) |
ข้อหารือ | : 1. นาย ว. ได้กู้เงินจากธนาคาร A จำนวน 2,000,000 บาท ตามสัญญาเงินกู้ฉบับลงวันที่ 22 มกราคม 2535 โดยนำที่ดินโฉนดจดทะเบียนจำนองเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินฉบับลงวันที่ 22 มกราคม 2535 2. วันที่ 12 มิถุนายน 2546 นาย ว. ได้ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบริษัทบริหาร ช. จำกัด โดยยอมรับว่ามียอดหนี้ค้างชำระ เป็นเงินต้นจำนวน 2,000,000 บาท และดอกเบี้ยจำนวน 2,523,350.35 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,523,350.35 บาทและตกลงให้มีการชำระหนี้เพียงจำนวน 3,000,000 บาท โดยถือให้เป็นการชำระหนี้เสร็จสิ้นและไถ่ถอนหลักประกัน และในวันเดียวกันนาย ว. ได้ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1673 ให้แก่ บริษัท พ.จำกัด เป็นเงินจำนวน 4,300,000 บาท (ราคาประเมิน 5,232,000 บาท) พร้อมชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวน 201,645 บาท อากรแสตมป์จำนวน 26,165 บาท 3. นาย ว. และบริษัท ช. จำกัด ได้ร่วมกันจัดทำหนังสือรับรองการโอนอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ให้แก่ผู้อื่นซึ่งไม่ใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน เพื่อนำเงินที่ได้รับจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 410) พ.ศ. 2545 4. นาย ว. ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2548 เพื่อขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจำนวน 201,645 บาท และอากรแสตมป์จำนวน 26,165 บาท ซึ่งได้ชำระตาม 2่ |
แนววินิจฉัย | : นาย ว. ได้นำที่ดินโฉนดไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการกู้เงินกับธนาคาร A ไว้ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 และได้โอนขายให้แก่ บริษัท พ. จำกัด ในวันที่ 12 มิถุนายน 2546 อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อนำเงินไปชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ย รวมจำนวน 3,000,000 บาท ให้แก่ บริษัท ช. (เจ้าหนี้สถาบันการเงิน) นาย ว. จึงมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และอากรแสตมป์เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระอยู่กับ บริษัท ช. ตามมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 410) พ.ศ.2545 แต่สิทธิของนาย ว. ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และอากรแสตมป์ยังไม่สมบูรณ์ เพราะนาย ว. มิได้แจ้งและส่งมอบหนังสือรับรองการโอนอสังหาริมทรัพย์ต่อเจ้าพนักงานที่ดินขณะที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ดังนั้น เมื่อนาย ว. ได้แจ้งหนังสือรับรองสิทธิผ่านสรรพากรพื้นที่ จึงเป็นการแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามข้อ 1(2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ ลงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2546 แล้ว นาย ว. จึงได้รับสิทธิยกเว้นตามมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 410) พ.ศ. 2545 |
เลขตู้ | : 70/35047 |