เลขที่หนังสือ | : กค 0706/5614 |
วันที่ | : 7 มิถุนายน 2550 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการคำนวณดอกเบี้ยเงินฝาก |
ข้อกฎหมาย | : พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 301) พ.ศ. 2539 |
ข้อหารือ | : ธนาคารฯ ได้เปิดให้บริการรับฝากเงินประเภทประจำรายเดือนประเภทยกเว้นภาษี โดยกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการฝากเงินให้เป็นไปตาม พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 301) พ.ศ. 2539 แต่ปรากฏว่า ผู้ฝากเงินประเภทประจำรายเดือนยกเว้นภาษีจำนวนหลายรายได้โต้แย้งว่า ธนาคารฯ กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับฝากเงินในส่วนของการลงรับดอกเบี้ยเงินฝากเมื่อมีการฝากครบ และเงื่อนไขการปิดบัญชีเงินฝากไม่ถูกต้อง ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับฝากเงินดังกล่าว และไม่ทำให้ผู้ฝากได้รับความเสียหาย หากธนาคารฯ ปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการับฝากเงินตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว ธนาคารฯ จึงขอทราบว่า 1. กรณีธนาคารฯ กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการรับดอกเบี้ย ให้คำนวณดอกเบี้ยเป็นรายวัน และลงรับดอกเบี้ยในวันที่ครบกำหนดระยะเวลา 24 เดือน 25 เดือน หรือ 26 เดือน นับแต่วันที่เปิดบัญชีเงินฝาก แล้วแต่กรณี ตัวอย่างเช่น ผู้ฝากเงินมาเปิดบัญชีเมื่อวันที่ 5มกราคม 2542 โดยฝากเงินติดต่อกันเป็นประจำทุกเดือนจนครบ 24 ครั้ง วันที่ครบระยะเวลาการฝาก และวันที่ลงรับดอกเบี้ย คือ วันที่ 5 มกราคม 2544 เป็นต้น การกำหนดเช่นนี้ถูกต้องตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวหรือไม่ 2. กรณีธนาคารฯ กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการถอนปิดบัญชีเงินฝาก เมื่อได้ฝากเงินครบระยะเวลาตามเงื่อนไขแล้ว ผู้ฝากเงินสามารถถอนปิดบัญชีได้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ลงรับดอกเบี้ย ตัวอย่างเช่น ตามข้อ 1. เมื่อผู้ฝากฝากเงินครบระยะเวลาตามเงื่อนไข และธนาคารฯ ลงรับดอกเบี้ยในวันที่ 5 มกราคม 2544 ผู้ฝากสามารถถอนปิดบัญชีได้ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2544 เป็นต้นไป การกำหนดเช่นนี้ถูกต้องตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : ในการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคำนวณดอกเบี้ยนั้น เป็นสิทธิของธนาคารฯ ที่จะกำหนดตามระเบียบของธนาคารฯ แต่สำหรับการนับระยะเวลาการฝากเงินซึ่งเป็นเงื่อนไขของการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นั้น ดอกเบี้ยเงินฝากที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 3แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 301) พ.ศ. 2539 ต้องเป็นดอกเบี้ยเงินฝากที่เกิดจากการฝากเงินเป็นรายเดือนติดต่อกันมีระยะเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่เดือนนับแต่วันที่เริ่มฝาก โดยมียอดเงินฝากแต่ละคราวเท่ากัน แต่ไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาทต่อเดือน และรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินหกแสนบาท ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ตัวอย่างเช่น ผู้ฝากเงินมาเปิดบัญชีเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2542 โดยฝากเงินเป็นรายเดือนติดต่อกันทุกเดือน การนับระยะเวลาการฝากเงินครบยี่สิบสี่เดือน ให้นับวันที่เริ่มฝากเงินคือ วันที่ 5 มกราคม 2542 เป็นวันแรกของระยะเวลาการฝากเงิน และวันที่ครบกำหนดระยะเวลาคือ วันที่ 4 มกราคม 2544 เป็นต้น |
เลขตู้ | : 70/34989 |