เลขที่หนังสือ | : กค 0706/6364 |
วันที่ | : 28 มิถุนายน 2550 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและการจำหน่ายเงินกำไรไปต่างประเทศ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65 และมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | : กรณีรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและการจำหน่ายเงินกำไรไปต่างประเทศ บริษัทฯ โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1. บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกหรือเม็ดพลาสติกสำเร็จรูปโดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามบัตรส่งเสริมการลงทุน เลขที่ 1304/2543 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2543 ในการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกหรือเคลือบพลาสติก บริษัทฯ มีบริษัทแม่ได้แก่ บ.A ตั้งอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งถือหุ้นในบริษัทฯ จำนวน 100% 2. จากการวิเคราะห์แบบ ภ.ง.ด. 50 และงบการเงินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2547 พบว่า งบดุลด้านหนี้สินหมุนเวียนมีรายการส่วนต่างค่าธรรมเนียมการผลิตค้างจ่ายจำนวน 21,688,000 บาท บริษัทฯ ชี้แจงว่า เป็นส่วนต่างค่าธรรมเนียมการผลิตชนิดสินค้า Styron และ Stylac ค้างจ่ายยกมาจากรอบบัญชีปี 2546 จำนวน 7,262,000 บาท และเกิดขึ้นในรอบบัญชีปี 2547 จำนวน 14,426,000 บาท ซึ่งส่วนต่างค่าธรรมเนียมการผลิตดังกล่าวเกิดจากส่วนต่างระหว่างราคาขายจริงตามใบกำกับภาษีกับราคาขายที่กำหนด แล้วบริษัทฯ จะทำการสรุปทุกสิ้นเดือนเพื่อปรับปรุงเพิ่มหรือลดรายจ่ายของบริษัทฯ ที่เกิดจากส่วนต่างของราคาขายกับราคาที่กำหนดดังกล่าว และจะส่งคืนหรือรับชดเชยเมื่อมีการแจ้งหนี้เพื่อเรียกเก็บเงินระหว่างบริษัทฯ กับ บ.ก. ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทยและ บ.B ที่ตั้งในประเทศญี่ปุ่น อันเป็นการปฏิบัติตามสัญญาชำระเงินจากการปรับปรุงยอด (Agreement for Settlement of Adjustments) จำนวน 2 ฉบับ โดยมีรายละเอียดของสัญญาแต่ละฉบับสรุปได้ ดังนี้ สัญญาฉบับที่ 1 ระหว่าง บ.S กับบริษัทฯ สำหรับสินค้า Styron ตามสัญญาฉบับนี้ มีบริษัทที่เกี่ยวข้องบริษัทฯ ได้แก่ บ.S บ.P และ บ.ก. บริษัทฯ จะซื้อวัตถุดิบจาก บ.ก. มาผลิตเป็นสินค้าเพื่อจำหน่ายโดย บ.Pเจ้าของสูตรการผลิตสินค้าเป็นผู้กำหนดให้บริษัทฯ ซื้อวัตถุดิบดังกล่าวและ บ.S จะเป็นผู้กำหนดราคาขาย ซึ่งจะกำหนดจากต้นทุนวัตถุดิบจริงตามสูตรการผลิตบวกค่าดำเนินการที่อนุมัติโดย บ.S (รวมกำไรที่บริษัทฯ ได้รับแล้ว) แต่ในการขายจริงบริษัทฯ อาจจะขายได้ในราคาที่สูงหรือต่ำกว่าที่ราคาขายที่กำหนดไว้ อันเป็นสาเหตุให้เกิดส่วนต่างของราคาสินค้าที่จะต้องทำการปรับปรุง ในกรณีที่บริษัทฯ ขายได้ในราคาที่สูงกว่าราคาขายที่กำหนด บริษัทฯ จะต้องส่งคืนส่วนต่างที่เกินมา แต่หากราคาที่ขายได้จริงต่ำกว่าราคาขายที่กำหนด บริษัทฯ จะได้รับชดเชยคืน ซึ่งการส่งคืนหรือรับชดเชยดังกล่าวจะเป็นการกระทำระหว่างบริษัทฯ กับ บ.S สัญญาฉบับที่ 2 ระหว่าง บ.B กับบริษัทฯ และระหว่าง A กับบริษัทฯ สำหรับสินค้าชนิด Stylac โดยมีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ ได้แก่ ก. บ.A เจ้าของสูตรการผลิตสินค้า ข. บ.B ตามสัญญาฉบับนี้ บริษัทฯ จะซื้อวัตถุดิบจาก บ.A มาผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายตามราคาที่กำหนดให้ขายแต่ในการขายจริง บริษัทฯ อาจจะขายได้ในราคาที่สูงหรือต่ำกว่าราคาขายที่กำหนดไว้ และจะต้องมีการส่งคืนหรือได้รับชดเชยเช่นเดียวกับสัญญาฉบับแรก โดยจะกระทำระหว่างบริษัทฯ กับ บ.B |
แนววินิจฉัย | : บริษัทฯ ซื้อวัตถุดิบเพื่อใช้ทำการผลิตสินค้าที่ได้รับว่าจ้างตามราคาที่ได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้าซึ่งยังไม่ได้มีการชำระราคากันจริง โดยมีข้อสัญญาที่จะทำการปรับปรุงราคาวัตถุดิบที่ตกลงซื้อไว้ด้วยวิธีเปรียบเทียบระหว่างราคาตามที่ได้ตกลงกันล่วงหน้ากับราคาจริงของวัตถุดิบที่คำนวณได้ ณ วันที่ได้ขายสินค้าไป หากราคาของวัตถุดิบ ณ วันที่ได้ขายสินค้าไปสูงกว่าราคาที่ตกลงซื้อล่วงหน้า บริษัทฯ จะต้องชำระส่วนต่างไปให้ บ.ก. หรือ บ.A แต่กรณีกลับกัน หากราคาวัตถุดิบ ณ วันที่ขายสินค้าต่ำกว่าราคาที่ตกลงกันล่วงหน้า บริษัทฯ จะได้รับชำระเงินส่วนต่างคืนจากทั้งสองบริษัท กรณีดังกล่าวถือว่า การกำหนดราคาซื้อวัตถุดิบที่กระทำนี้เป็นวิธีการทางธุรกิจอย่างหนึ่งเพื่อให้ทราบมูลค่าต้นทุนเบื้องต้นของสินค้าซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ในอนาคตตามราคาวัตถุดิบที่หาซื้อมาที่อาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้เช่นเดียวกันตามสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา แต่ราคาวัตถุดิบที่ตกลงซื้อล่วงหน้านี้ยังไม่ใช่ต้นทุนที่แท้จริงในการคิดคำนวณหาต้นทุนการผลิตสินค้า การที่บริษัทฯ ได้ทำสัญญาปรับปรุงราคาวัตถุดิบกับ บ.ก.หรือกับ บ.A ดังกล่าวจึงเป็นการทำสัญญาตกลงเพื่อหาราคาที่แท้จริงของวัตถุดิบและให้ได้มูลค่าต้นทุนที่แท้จริงของสินค้า หากเป็นกรณีบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องชำระจำนวนเงินส่วนต่างของราคาวัตถุดิบคืน ก็ถือว่าเป็นมูลค่าต้นทุนของวัตถุดิบที่ต้องชำระ และถือเป็นรายจ่ายในการผลิตสินค้า แต่หากเป็นกรณีที่บริษัทฯ มีสิทธิได้รับชำระราคาคืน มูลค่าของราคาที่ได้รับชำระคืนถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนวัตถุดิบที่ชำระเกินไป เมื่อได้รับชำระคืนบริษัทฯ ต้องนำมาคำนวณเป็นรายได้ของกิจการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ตามถ้าปรากฏว่า บริษัทฯ มียอดรายจ่ายค้างจ่ายยกมาเป็นเวลาสองรอบระยะเวลาบัญชีและมีจำนวนเพิ่มขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีหลังซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่า บริษัทฯ อาจใช้วิธีการคำนวณมูลค่าต้นทุนของสินค้าตามที่ได้แจ้งมาเพื่อเป็นช่องทางในการส่งเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย หากปรากฏว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นบริษัทฯ ไม่มีรายได้ที่รับตามสัญญาปรับปรุงราคาวัตถุดิบและยังคงมีแต่รายจ่ายที่เกิดจากการปรับปรุงราคาวัตถุดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากบริษัทฯ ได้มีการรับรู้รายได้ตามจำนวนที่แน่นอนแล้ว ต่อมาได้มีการบันทึกบัญชีเพื่อโอนกำไรในบัญชีสะสม กรณีจะถือว่า เป็นการจำหน่ายเงินกำไรที่จะต้องเสียภาษีตามมาตรา 70 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 70/35076 |