เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/6356
วันที่: 28 มิถุนายน 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการอายัดสิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝาก
ข้อกฎหมาย: มาตรา 35 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:       ตามที่สำนักงานสรรพากรภาค ขอให้กรมสรรพากรกำหนดแนวทางปฏิบัติ กรณีการอายัดสิทธิเรียกร้องในเงินฝาก ราย ห้างหุ้นส่วนจำกัด ป.
แนววินิจฉัย:       ตามข้อ 3 ของสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินฝากเป็นประกัน กำหนดว่า "การโอนสิทธิเรียกร้องในสัญญาเป็นการโอนเพื่อประกันหนี้สินทุกประเภทของผู้โอน และหรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. ที่มีต่อผู้รับโอนในวันทำสัญญานี้ และหรือที่จะเกิดมีขึ้นต่อไปในภายภาคหน้า" และข้อ 5 ของสัญญาดังกล่าวกำหนดว่า "หากผู้โอนผิดนัดชำระหนี้ หรือไม่ปฏิบัติตามสัญญา หรือเงื่อนไขอื่นใดที่ได้ให้ไว้ต่อผู้รับโอน ในการให้สินเชื่อหรือหนี้สินทุกประเภทของผู้โอนและหรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. หรือไม่ว่ากรณีใดๆ ผู้รับโอนสามารถดำเนินการเบิกถอนหรือหักเงินจากบัญชีเงินฝากดังกล่าวตามสัญญานี้โดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้โอนทราบและไม่ต้องขอความยินยอมจากผู้โอนทั้งให้ถือว่าสัญญานี้ผู้รับโอนมีสิทธิเบิกถอนหรือหักเงินฝากตามความดังกล่าวโดยไม่จำเป็นต้องทำเอกสารในการเบิกถอนเงินฝากแต่อย่างใดอีก ในกรณีที่ผู้รับโอนได้เบิกถอนหรือหักเงินในบัญชีเงินฝากมาชำระหนี้ของผู้โอน และหรือลูกหนี้แล้ว ยังมีเงินเหลืออยู่ในบัญชีเงินฝากอีก ผู้รับโอนจะคืนเงินที่เหลือให้แก่ผู้โอน...."
        ดังนั้น เมื่อตามข้อเท็จจริงนาย อ. ผู้โอนผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ปฏิบัติตามสัญญา หรือเงื่อนไขอื่นใดที่ได้ให้ไว้ต่อธนาคารฯ ผู้รับโอน ในการให้สินเชื่อหรือหนี้สินทุกประเภทของผู้โอนและหรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. หรือไม่ว่ากรณีใดๆ คู่สัญญามีความประสงค์จะชำระหนี้โดยผ่านธนาคารเพื่อที่ธนาคารจะได้เอาไปหักกับหนี้สินที่นาย อ. ผู้โอนมีอยู่ต่อธนาคารก่อน หากยังมีเงินเหลืออยู่ในบัญชีเงินฝากอีก ธนาคารฯ ผู้รับโอนจะคืนเงินที่เหลือให้แก่นาย อ. ผู้โอน
        ข้อตกลงนี้ ถือเป็นการมอบอำนาจให้ธนาคารฯ รับเงินแทนนาย อ. หาใช่เป็นการโอนสิทธิเรียกร้องไม่ ตามนัยคำพิพากษาฎีกา (ประชุมใหญ่) สำหรับข้อกฎหมายตามคำพิพากษา และคำพิพากษาฎีกา ตามที่ธนาคารฯ ได้อ้างไว้นั้น เป็นข้อกฎหมายเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง ยังไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในบัญชีเงินฝากดังกล่าวยังเป็นของนาย อ. ธนาคารฯ จึงไม่อาจยกข้อต่อสู้เพื่อที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอายัด ลงวันที่ 9 กันยายน 2548 สำหรับการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอายัดฯ ของธนาคารฯ นั้น จะเป็นความผิดตามมาตรา 35 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 70/35073

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020