เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/6104
วันที่: 28 มิถุนายน 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน
ข้อกฎหมาย: พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145)
ข้อหารือ:       นาย ก. ได้ซื้อเครื่อง Konica Digital Minilab QD-21 System จากบริษัท ล. ตามใบกำกับภาษี ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2545 จึงขอทราบว่า การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเครื่องดังกล่าว จะจัดเป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรือไม่อย่างไร และหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ในอัตราร้อยละเท่าไร
แนววินิจฉัย:       หากเครื่อง Konica Digital Minilab QD-21 System เป็นเครื่องอิเล็กทรอนิกส์แบบอัตโนมัติทำหน้าที่เสมือนสมองกลใช้สำหรับแก้ปัญหาต่างๆ โดยวิธีทางคณิตศาสตร์ เข้าลักษณะเป็นทรัพย์สินประเภทคอมพิวเตอร์ หรือเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องช่วย หรือเครื่องประกอบกับคอมพิวเตอร์เพื่อให้คอมพิวเตอร์ใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์จึงหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ดังนี้
        1. ภายในสามรอบระยะเวลาบัญชีนับแต่วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา ในกรณีที่รอบระยะเวลาบัญชีใดไม่เต็มสิบสองเดือน ให้เฉลี่ยตามส่วนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยจะเลือกใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไปวิธีใดก็ได้
        2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินไม่เกินสองร้อยล้านบาทและมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน หรือตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนดขึ้นภายหลังจากพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ใช้บังคับแล้วเป็นเวลาสามปี ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาเบื้องต้นในวันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมาในอัตราร้อยละ 40 ของมูลค่าต้นทุน สำหรับมูลค่าต้นทุนส่วนที่เหลือให้หักตามเงื่อนไขและอัตราที่กำหนดไว้ใน 1. ทั้งนี้ ตามมาตรา 4 จัตวา แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว
เลขตู้: 70/35045

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020