คำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ป. 92/2542
เรื่อง การพิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ในการตรวจสอบหรือตรวจปฏิบัติการ
---------------------------------------------
เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติ สำหรับการพิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89และมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ในการตรวจสอบหรือตรวจปฏิบัติการกรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.18/2530 เรื่อง การพิจารณาลดหรืองดเบี้ยปรับตามมาตรา 22 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติ บุคคลยื่นแบบแสดงรายการมีผลขาดทุนสุทธิ ลงวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2530
ข้อ 2 เจ้าพนักงานประเมินจะพิจารณางดหรือลดเบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้ได้เฉพาะกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่า บุคคลที่จะต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนด้วยดี ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินต้องพิจารณาทั้งสองกรณีประกอบกัน
ข้อ 3 บุคคลที่จะต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม ซึ่งมีการกระทำดังต่อไปนี้ให้ถือว่าไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร
(1) สำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของการเสียภาษีอย่างชัดแจ้ง ตัวอย่างเช่น
(ก) รายการทางบัญชีไม่ถือเป็นรายได้หรือรายรับ แต่ทางภาษีถือเป็นรายได้หรือรายรับ และรายการทางบัญชีถือเป็นรายจ่ายแต่ทางภาษีไม่ถือเป็นรายจ่าย
(ข) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
(ค) ผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้องตามที่อธิบดีกำหนด แต่ไม่ผิดประเภทภาษี เช่น มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด.90 แต่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด.91
(ง) ผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษีเมื่อพ้นกำหนดเวลา เนื่องจากเข้าใจว่าวันที่ครบกำหนดเวลายื่นรายการเป็นวันหยุดราชการ เช่น วันที่1 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันหยุดธนาคาร ซึ่งวันหยุดดังกล่าวเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปแต่ไม่ใช่วันหยุดราชการ
(จ) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะรวมกัน ณ สถานประกอบการแห่งหนึ่ง ต่อมาได้แจ้งย้ายสถานประกอบการที่ได้รับอนุมัตินั้นไปอยู่ที่อื่น และได้แยกยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีเป็นรายสถานประกอบการ
(ฉ) กรอกแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.30 โดยนำยอดขาย หรือยอดซื้อ ของสถานประกอบการสาขามารวมคำนวณกับสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ โดยไม่ได้รับอนุมัติให้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีรวมกัน
(ช) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเฉลี่ยภาษีซื้อที่จะนำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 82/6 แห่งประมวลรัษฎากร
(2) มีการกระทำที่ผิดพลาดในการเสียภาษีโดยมีเหตุอันสมควร ตัวอย่างเช่น
(ก) กรอกแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้องตามช่องรายการที่กำหนดในแบบแสดงรายการภาษี
(ข) กรอกแบบแสดงรายการภาษีโดยคำนวณภาษีถูกต้อง แต่ไม่ตรงตามเดือนภาษี ปีภาษี หรือรอบระยะเวลาบัญชี
(3) คำนวณเสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง เนื่องจากพนักงานของผู้เสียภาษีได้กระทำการทุจริตและมีหลักฐานแจ้งความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
(4) ตรวจพบความผิดพลาดเอง และได้พยายามแก้ไขความผิดพลาดนั้นแล้ว แต่ก็ยังชำระภาษีไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน
(5) เริ่มประกอบกิจการ และกระทำความผิดเป็นครั้งแรก โดยมิใช่กรณีใช้ใบกำกับภาษีปลอมในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
(6) มีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่สามารถนำบัญชีเอกสารหรือหลักฐานการเสียภาษีส่งมอบต่อเจ้าพนักงานประเมิน
ข้อ 4 บุคคลที่จะต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม ซึ่งมีการกระทำดังต่อไปนี้ให้ถือว่าให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนด้วยดี
(1) ปฏิบัติตามหมายเรียก หนังสือเชิญพบ หรือหนังสืออื่นด้วยดีชี้แจงขั้นตอน และวิธีการในการประกอบกิจการโดยไม่ปิดบังข้อเท็จจริง
(2) นำบัญชี เอกสารหลักฐานประกอบการลงบัญชี หลักฐานการเสียภาษี และหลักฐานการยื่นแบบแสดงรายการภาษี ส่งมอบให้แก่เจ้าพนักงานประเมินเพียงพอแก่การตรวจสอบ จนทำให้การตรวจสอบภาษีอากรเสร็จสิ้น
(3) เจ้าพนักงานประเมินได้หลักฐานเกี่ยวกับการเสียภาษีอากรมาเองบางส่วน และบุคคลที่จะต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มยอมรับว่าเอกสารดังกล่าวเป็นของตนจริง และยังได้นำเอกสารที่เกี่ยวข้องมาส่งมอบเพิ่มเติมให้แก่เจ้าพนักงานประเมินเพียงพอแก่การตรวจสอบ จนทำให้การตรวจสอบภาษีอากรเสร็จสิ้น
(4) อำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าพนักงานประเมินกรณีเจ้าพนักงานประเมินได้เข้าตรวจปฏิบัติการภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีธุรกิจเฉพาะ ณ สถานประกอบการ
ข้อ 5 บุคคลที่จะต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม ซึ่งมีการกระทำดังต่อไปนี้ไม่ให้เจ้าพนักงานประเมินงดหรือลดเบี้ยปรับ เว้นแต่อธิบดีกรมสรรพากรเห็นสมควรจะสั่งเป็นอย่างอื่น
(1) กระทำความผิดซ้ำในประเด็นหรือกรณีเดียวกันกับความผิดที่เจ้าพนักงานประเมินได้เคยตรวจสอบ ได้เคยแจ้งความผิดให้ทราบ และได้แนะนำให้แก้ไขความผิดพลาดดังกล่าวเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่ การกระทำความผิดดังกล่าวไม่อยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขให้ถูกต้องได้ก่อนที่เจ้าพนักงานประเมินเข้าตรวจสอบครั้งต่อไป
(2) กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ยื่นแบบแสดงรายการมีผลขาดทุนสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยยังไม่รวมผลขาดทุนสุทธิยกมา แต่เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกตรวจสอบ ปรากฏว่ามีกำไรสุทธิต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้น เว้นแต่ กรณีการตรวจสอบว่ามีกำไรสุทธิเกิดจากผู้เสียภาษีสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญของการเสียภาษีอย่างชัดแจ้งตามข้อ 3(1)
(3) เจ้าพนักงานประเมินได้หลักฐานเกี่ยวกับการเสียภาษีอากรมาเองบางส่วน โดยบุคคลที่จะต้องเสียเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มไม่ยอมรับว่าเอกสารดังกล่าวเป็นของตนและไม่ยอมรับว่าถูกต้อง ทำให้เจ้าพนักงานประเมินต้องเสียเวลาตรวจสอบเอกสารยืนยันความถูกต้องของเอกสาร และค้นหาหลักฐานเพิ่มเติมอีก
ข้อ 6 หลักฐานเกี่ยวกับการเสียภาษีอากร หมายถึง พยานหรือหลักฐานทุกชนิดที่ปรากฏเป็นข้อมูลอย่างชัดเจน สามารถใช้แสดงประกอบหรือพิสูจน์ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายได้ รายรับ หรือฐานภาษีอากรที่จะคำนวณเพื่อประเมินหรือสั่งเรียกเก็บภาษีอากรได้เช่น หนังสือสำคัญเกี่ยวกับการซื้อขาย จะขาย ขายฝาก แลกเปลี่ยน ให้เช่าซื้อ หรือจำหน่าย จ่าย โอน โดยมีผลประโยชน์ตอบแทน การกู้ยืมเงิน จำนำ จำนอง จ้างทำของ เช่า หรือ สัญญาต่างตอบแทนอย่างอื่น เอกสารใบรับของหรือสินค้า บันทึกเกี่ยวกับการรับเงิน การชำระหนี้ ปลดหนี้ สมุดบัญชีและเอกสารทางการเงินต่างๆ เอกสารในสำนวนคดีความของศาล เช่น สัญญาประนอมหนี้ สัญญาประนีประนอมยอมความ คำให้การหรือคำรับสารภาพด้วยความสมัครใจในสำนวนคดีความดังกล่าว
บัตรสนเท่ห์ หนังสือร้องเรียนกล่าวหาแจ้งข่าว ซึ่งไม่อาจพิสูจน์ความถูกต้องแท้จริงแห่งคำร้องเรียน กล่าวหา หรือแจ้งข่าวนั้น ไม่ถือเป็นหลักฐานเกี่ยวกับการเสียภาษีอากร
ข้อ 7 บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือหรือทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้เป็นอันยกเลิก
สั่ง ณ วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2542
ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ
อธิบดีกรมสรรพากร