คำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ป. 87/2542
เรื่อง การยื่นแบบและการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 83/5 แห่งประมวลรัษฎากร
---------------------------------------------
เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับกรณีการยื่นแบบและการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 83/5 แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
ข้อ 1 กรณีส่วนราชการเป็นผู้ทอดตลาดและได้ขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน ส่วนราชการต้องจัดทำใบเสร็จรับเงินส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อในการขายทอดตลาด และจัดทำสำเนาใบเสร็จรับเงินส่งมอบให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สินตามมาตรา 83/5 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร
ใบเสร็จรับเงินตามวรรคหนึ่ง เป็นใบกำกับภาษีตามมาตรา 77/1 (22) แห่งประมวลรัษฎากร
ผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สินต้องนำมูลค่าของทรัพย์สินที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มตามสำเนาใบเสร็จรับเงินตามวรรคหนึ่ง ไปลงรายการในรายงานภาษีขาย ตามมาตรา 87(1) แห่งประมวลรัษฎากร และนำมูลค่าของทรัพย์สินและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.30) ตามมาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีผู้ซื้อในการขายทอดตลาดตามวรรคหนึ่ง เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ผู้ซื้อมีสิทธินำใบเสร็จรับเงินของส่วนราชการไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อ 2 กรณีส่วนราชการขายทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ถูกยึดมาตามกฎหมายโดยวิธีอื่นนอกจากการขายทอดตลาด ส่วนราชการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สิน และผู้ซื้อในการขายทอดตลาด ยังคงมีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามข้อ 1
ข้อ 3 กรณีส่วนราชการขายทอดตลาดทรัพย์สินตามข้อ 1 และข้อ 2 ไม่รวมถึงการขายของลักลอบหนีศุลกากร หรือการขายทรัพย์สินของส่วนราชการซึ่งตามกฎหมายต้องดำเนินการขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่นก่อนที่ของหรือทรัพย์สินนั้นจะตกเป็นของแผ่นดิน
ข้อ 4 กรณีผู้ทอดตลาดที่ไม่ใช่ส่วนราชการและได้ขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน ผู้ทอดตลาดต้องจัดทำใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สิน ตามมาตรา 86/3 แห่งประมวลรัษฎากร โดยส่งมอบต้นฉบับ ใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อในการขายทอดตลาด และส่งมอบสำเนาใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สิน
ผู้ทอดตลาดที่ไม่ใช่ส่วนราชการตามวรรคหนึ่ง หมายถึง ผู้ดำเนินการในการขายทอดตลาดซึ่งประกอบกิจการเป็นอาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจการขายทอดตลาด
การจัดทำใบกำกับภาษีตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้แบบพิมพ์ใบกำกับภาษีของผู้ทอดตลาด และต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) คำว่า " ใบกำกับภาษี " ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
(2) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ทอดตลาดที่จัดทำใบกำกับภาษี
(3) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สิน ซึ่งรายการดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้
(4) ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อทรัพย์สิน
(5) หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม(ถ้ามี)
(6) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของทรัพย์สิน
(7) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของทรัพย์สิน โดยให้แยกออกจากมูลค่าของทรัพย์สินให้ชัดแจ้ง
(8) วัน เดือน ปี ที่จัดทำใบกำกับภาษี
กรณีผู้ซื้อในการขายทอดตลาดตามวรรคหนึ่ง เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ผู้ซื้อมีสิทธินำใบกำกับภาษีตามวรรคสามไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อ 5 ผู้ทอดตลาดที่ไม่ใช่ส่วนราชการตามข้อ 4 มีหน้าที่ต้องยื่นแบบนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.36) ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สินมีหน้าที่ต้องเสียต่อกรมสรรพากร ภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่ขายทอดตลาด และผู้ซื้อในการขายทอดตลาดจ่ายเงินค่าทรัพย์สินให้แก่ผู้ทอดตลาด
ผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สินซึ่งได้รับสำเนาใบกำกับภาษีจากผู้ทอดตลาดที่ไม่ใช่ส่วนราชการตามข้อ 4 ไม่ต้องนำมูลค่าของทรัพย์สินและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามสำเนาใบกำกับภาษีไปลงรายการในรายงานภาษีขายตามมาตรา 87(1) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ต้องนำมูลค่าของทรัพย์สินและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (แบบ ภ.พ.30) ตามมาตรา 83 แห่งประมวลรัษฎากร
ให้ผู้ทอดตลาดตามวรรคหนึ่ง ส่งมอบต้นฉบับใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเจ้าของทรัพย์สิน และถ่ายเอกสารใบเสร็จรับเงินดังกล่าวเก็บรักษาไว้พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานสรรพากรตรวจสอบได้ทันที
ข้อ 6 ระเบียบ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือ หรือแนวทางปฏิบัติใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้เป็นอันยกเลิก
สั่ง ณ วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2542
ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ
อธิบดีกรมสรรพากร