เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค. 0706/พ./6444
วันที่: 2 กรกฎาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีสินค้าสูญหายเนื่องจากถูกลักขโมย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (12) มาตรา 77/1(8)(9) มาตรา 77/1(8)(จ) มาตรา 79 มาตรา 79/3(3) มาตรา 87(3) มาตรา 82/3 และมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:       บริษัทฯ ประกอบธุรกิจจำหน่ายเศษโลหะทุกชนิด โดยรับซื้อจากหลายแหล่งนำมาคัดแยกแล้วอัดเป็นก้อนเพื่อจำหน่ายทั้งภายในประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ ในระหว่างปี 2547 บริษัทฯ ถูกโจรกรรมในเวลากลางคืน และสินค้าของบริษัทฯ ถูกลักขโมย ในวันรุ่งขึ้น บริษัทฯ ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาล และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มาตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุภายในโรงงานเพื่อติดตามจับกุมคนร้าย ต่อมา สถานีตำรวจนครบาล แจ้งว่า พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นให้งดการสอบสวน โดยส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งพนักงานอัยการมีความเห็นให้งดการสอบสวน และมีคำสั่งให้งดการสอบสวน
        บริษัทฯ ขอทราบว่า ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ ดังต่อไปนี้
        1. สินค้าของบริษัทฯ ที่ถูกขโมยเป็นสินค้าที่ไม่มีประกัน หรือสัญญาคุ้มกันใดๆ มูลค่าของสินค้าที่สูญหายดังกล่าว ถือเป็นผลเสียหายเนื่องจากการประกอบกิจการ ไม่ถือเป็นการขายที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
        2. บริษัทฯ มีสิทธินำมูลค่าต้นทุนของสินค้าที่สูญหายไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร
        3. สินค้าคงเหลือของบริษัทฯ ที่สูญหายเนื่องจากการถูกโจรกรรม เข้าลักษณะเป็นสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ถือเป็นการขายสินค้า บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากมูลค่าสินค้าที่สูญหายดังกล่าว
        4. ภาษีซื้อของสินค้าที่ถูกโจรกรรม เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย:       1.กรณีตาม 1 และ 2 สินค้าของบริษัทฯ สูญหาย และบริษัทฯ มีหลักฐานแจ้งชัดว่าสินค้าดังกล่าวถูกโจรกรรม ถือเป็นผลเสียหายเนื่องจากการประกอบกิจการ ผลเสียหายดังกล่าวไม่มีประกันหรือสัญญาคุ้มกันใดๆ บริษัทฯ มีสิทธินำมูลค่าต้นทุนของสินค้าทั้งจำนวนไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (12) แห่งประมวลรัษฎากร โดยต้องนำมาถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ถูกโจรกรรม มิใช่รอบระยะเวลาบัญชีที่การดำเนินคดีความสิ้นสุด และหากภายหลังบริษัทฯ ได้รับสินค้าคืนหรือได้รับชำระหนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนในรอบระยะเวลาบัญชีใด ก็ให้นำจำนวนสินค้าหรือจำนวนหนี้ที่ได้รับชำระมาถือเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น
        2. กรณีตาม 3 สินค้าคงเหลือของบริษัทฯ ที่สูญหายเนื่องจากถูกโจรกรรม สินค้าดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ถือเป็นการขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) และ(9) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องยื่นแบบ ภ.พ. 30 จากมูลค่าของสินค้าตามราคาตลาดของสินค้าที่ถูกโจรกรรมไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(8)(จ) มาตรา 79 มาตรา 79/3(3) และมาตรา 87(3) แห่งประมวลรัษฎากร
        3. กรณีตาม 4 หากบริษัทฯ ได้ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มรายอื่น ภาษีซื้อดังกล่าวถือเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ไม่เป็นต้องห้าม ตามมาตรา 82/3 และมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 70/35085

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020