เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค. 0706/6478
วันที่: 2 กรกฎาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(3) มาตรา 40(8) มาตรา 77/1 มาตรา 77/2 มาตรา 78 และมาตรา 78/3 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:       บริษัท ก. ประกอบธุรกิจทางด้านอินเทอร์เน็ต และเว็บไซต์ ซึ่งให้บริการร้านค้าออนไลน์สำเร็จรูป (Catalog online) โดยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายสินค้า และบริการ eShopping Mall ครบวงจร เพื่อให้บริการแก่ร้านค้าที่ประสงค์จะมีหน้าร้านไว้ขายสินค้าและบริการ รวมทั้งบริการจดทะเบียนโดเมนเนม อีเมลล์โฮสติ้ง และโคโลเคชั่น บริษัทฯ ได้ตกลงขายธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว ให้แก่บริษัท ข. (บริษัทผู้ซื้อ) เป็นจำนวนเงิน 10,000,000 บาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม การขายธุรกิจดังกล่าว บริษัทผู้ซื้อจะได้รับการโอนลิขสิทธิ์ สิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สิทธิในการใช้เว็บไซต์ หรือสิทธิอื่นใดที่เกี่ยวข้อง ระบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของบริษัทฯ โดยมีการแบ่งจ่ายค่าตอบแทนเป็นสองส่วน คือ ร้อยละ 30.0 เมื่อลงนามในสัญญา และที่เหลือจะชำระเมื่อบริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญา (Condition Precedent) ครบถ้วนแล้ว
        บริษัทฯ จึงขอทราบว่า การขายธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว บริษัทผู้ซื้อจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือไม่ และบริษัทฯ มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายธุรกิจดังกล่าว หรือไม่
แนววินิจฉัย:       1.ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย
        ในกรณีที่บริษัทฯ ขายธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งประกอบด้วยทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง ได้แก่ เว็บไซต์ รูปแบบหน้าเว็บไซต์ ลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาเป็นระบบต่าง ๆ สิทธิต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ ชื่อเสียงทางการค้า หรือกู๊ดวิลล์ ข้อมูลความเป็นสมาชิกของร้านค้า รายชื่อลูกค้า เงินได้จากการขายทรัพย์สินไม่มีรูปร่างดังกล่าว ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทผู้ซื้อ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 3.0ตามข้อ 3/2(1) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528
        อย่างไรก็ดี หากการขายธุรกิจดังกล่าว มีการโอนสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีรูปร่างอื่น ๆ ด้วย เงินได้จากการโอนทรัพย์สินอื่น ๆ นั้น เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทผู้ซื้อไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด
        2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
        การขายสินค้าทั้งที่ไม่มีรูปร่างและที่มีรูปร่างตาม 1. ให้แก่บริษัทผู้ซื้อในประเทศไทย เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าโดยผู้ประกอบการซึ่งอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องนำมูลค่าจากการขายสินค้าดังกล่าว มารวมคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัทฯ มีความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตามมาตรา 78/3(1) หรือตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี
        อย่างไรก็ดี หากการขายธุรกิจตาม 1. เป็นการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 77/1(8)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร การโอนดังกล่าว ไม่ถือเป็นการขายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
เลขตู้: 70/35089

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020