เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค. 0706/6533
วันที่: 3 กรกฎาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการร่วมกันปฏิบัติการแบบพันธมิตรของบริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน) (RRC)
ข้อกฎหมาย: มาตรา 74 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:         บริษัท ก. และบริษัท ข. ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 ให้ดำเนินการร่วมกันกลั่นน้ำมันตามโครงการปฏิบัติการแบบพันธมิตร (Operating Alliance) และกรมสรรพากรได้มีหนังสือ ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2541 แจ้งว่า กรณีที่บริษัททั้งสองเข้าร่วมกันกลั่นน้ำมันดังกล่าว อาจพิจารณาภาระภาษีได้ดังนี้
        1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
        เนื่องจากการปฏิบัติการแบบพันธมิตร ไม่มีการร่วมกันในผลกำไรหรือขาดทุนจากการประกอบกิจการแต่อย่างใด บริษัท ก. และ ข. ยังคงประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันของแต่ละบริษัท และแยกกันขายผลิตภัณฑ์ที่ได้ต่อไปตามเดิม โดยจะมีการจัดสรรเฉพาะค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกลั่นน้ำมันโดยตรงเท่านั้น ดังนั้น การปฏิบัติการแบบพันธมิตรซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีดังกล่าว จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการแก่กัน และกรณีที่บริษัททั้งสองจัดสรรค่าใช้จ่ายในการดำเนินการกลั่นไปยังอีกบริษัทหนึ่งในอัตราร้อยละ 50 นั้น จึงไม่ถือเป็นการจ่ายค่าบริการซึ่งต้องนำไปรวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแต่อย่างใด
        อย่างไรก็ดี ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงกำลังการกลั่นไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม เช่น บริษัทใดบริษัทหนึ่งปิดโรงกลั่น บริษัททั้งสองมีหน้าที่ต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงกำลังการผลิตให้กรมสรรพากรทราบทุกครั้งด้วย
        2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
        ในกรณีที่บริษัท ก. หรือ ข. จ่ายค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการกลั่นน้ำมันให้กับผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการไปก่อน และได้รับใบกำกับภาษีในนามของบริษัท ก. หรือบริษัท ข. นั้น เนื่องจากบริษัททั้งสองจะจัดสรรรายจ่ายดังกล่าวไปให้อีกบริษัทหนึ่งในอัตราร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตามสัญญาการปฏิบัติการแบบพันธมิตร ดังนั้น บริษัท ก. หรือบริษัท ข. จึงมีสิทธินำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีในกรณีดังกล่าวมาถือเป็นภาษีซื้อของตนเองได้เพียงร้อยละ 50 ของภาษีซื้อเท่านั้น โดยภาษีซื้อที่เหลืออีกร้อยละ 50 นั้น ให้บริษัทที่ทำการจัดสรร ทำรายงานแสดงจำนวนภาษีซื้อที่มีการจัดสรรดังกล่าวในแต่ละเดือน แล้วส่งมอบให้อีกบริษัทหนึ่งนำไปถือเป็นภาษีซื้อต่อไป นั้น
        เนื่องจากบริษัท ก. อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อควบรวมกิจการกับบริษัท A (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตามมาตรา 146 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และมาตรา 74แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งผลของการควบรวมกิจการดังกล่าว จะทำให้เกิดบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ก. และบริษัท A
        บริษัท ก. ได้หารือว่า บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการดังกล่าว มีสิทธิที่จะปฏิบัติตามหนังสือตอบข้อหารือที่กรมสรรพากรเคยตอบต่อไป ในส่วนของการปฏิบัติการแบบพันธมิตรถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย:         เนื่องจากมาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 กำหนดให้บริษัทที่ควบกันและจดทะเบียนแล้ว ย่อมได้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบริษัทเหล่านั้นทั้งหมด ดังนั้น บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบกันระหว่างบริษัท ก. และบริษัท A จึงมีสิทธิที่จะปฏิบัติตามหนังสือตอบข้อหารือข้างต้นต่อไป เช่นเดียวกับบริษัทเดิม
เลขตู้: 70/35098

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020