เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค. 0706/6804
วันที่: 9 กรกฎาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเงินกำไรสะสม
ข้อกฎหมาย: มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:        บริษัท บ. เป็นบริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นและจดทะเบียนในประเทศไทยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการ คือ การถือหุ้นในบริษัทจำกัดอื่น โดยบริษัทฯ มีผู้ถือหุ้นรายหนึ่งเป็นนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นและจดทะเบียนในประเทศสหราชอาณาจักร (บริษัทอังกฤษฯ) มิได้ประกอบกิจการและไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย ปัจจุบัน บริษัทฯ ได้จดทะเบียนเลิกบริษัทต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และอยู่ในระหว่างการชำระบัญชี บริษัทฯ มีเงินสดจากกำไรสะสมที่จะคืนแก่ผู้ถือหุ้นจำนวนหนึ่ง โดยจะดำเนินการคืนเงินดังกล่าวให้แก่ผู้ถือหุ้นทุกรายตามสัดส่วนการถือหุ้นและข้อกำหนดที่ระบุไว้ในข้อบังคับของบริษัทฯ
        บริษัทฯ มีความเข้าใจว่า เงินกำไรสะสมส่วนที่เกินกว่าทุนนี้ เข้าลักษณะเป็นผลประโยชน์ที่ได้จากการตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน เนื่องจากบริษัทอังกฤษฯ จดทะเบียนในประเทศสหราชอาณาจักรและไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย เงินส่วนที่เกินกว่าเงินลงทุนที่บริษัทอังกฤษฯ มีสิทธิที่จะได้รับคืนจากบริษัทฯ จะได้รับยกเว้นไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เพราะถือว่าเป็นผลได้จากทุน (Capital Gains) ตามข้อ 14 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์เหนือ เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย:       เงินกำไรสะสม ที่ได้จากการที่บริษัทเลิกกัน เข้าลักษณะเป็นเงินปันผล (Dividends) ตามข้อ 11 แห่งอนุสัญญาฯ ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินดังกล่าวให้แก่บริษัทอังกฤษฯ ในฐานะผู้ถือหุ้น ซึ่งมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินจึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10 ของเงินที่ได้จ่ายไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 11 แห่งอนุสัญญาฯ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505
เลขตู้: 70/35123

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020