เลขที่หนังสือ | : กค. 0706/6999 |
วันที่ | : 13 กรกฎาคม 2550 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาด |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 69 ตรี มาตรา 89(2) มาตรา 89/1 มาตรา 90(3) มาตรา 91/2(6) และมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 |
ข้อหารือ | : บริษัทฯ ได้ซื้อที่ดิน น.ส. 3 ก. จำนวน 41 แปลง จากการขายทอดตลาดของสำนักงานบังคับคดี ราคาทุนทรัพย์ 17,560,000 บาท ราคาประเมิน 28,108,750 บาท เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2549 โดยมีห้างหุ้นส่วนจำกัด ม. เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง สำนักงานที่ดิน เรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายเป็นเงิน 2,666,313 บาท ต่อมาได้ตรวจสอบพบว่า การหักภาษี ณ ที่จ่ายดังกล่าวไม่ถูกต้อง เนื่องจาก ผู้ถูกขายทอดตลาดเป็นนิติบุคคลจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1.0 เป็นเงิน 281,088 บาท ภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตราร้อยละ 3.3 เป็นเงิน 927,590 บาท รวมเป็นเงิน 1,208,678 บาท สำนักงานที่ดินฯ จึงแจ้งให้บริษัทฯ ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายและภาษีธุรกิจเฉพาะเพิ่มเติมพร้อมกับยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ แต่บริษัทฯ มีหนังสือขอให้สำนักงานที่ดินฯ หักกลบค่าภาษีที่ ชำระไว้แล้วกับภาษีที่ต้องชำระและขอรับคืนส่วนที่ชำระเกินไว้จากสำนักงานสรรพากรพื้นที่ จึงขอทราบแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง |
แนววินิจฉัย | : 1. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย บริษัทฯ ซื้ออสังหาริมทรัพย์ของห้างฯ จากการขายทอดตลาดของสำนักงานบังคับคดี ถือเป็นกรณีห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขายอสังหาริมทรัพย์ บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ซื้อจึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งต่อเจ้าพนักงานที่ดินในขณะจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในอัตราร้อยละ 1.0 ของราคาที่ขายทอดตลาดตามมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร กรณีสำนักงานที่ดินฯ ได้เรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายเป็นเงิน 2,666,313 บาท แต่ใบเสร็จรับเงินของกรมที่ดินระบุว่า ได้รับเงินจากห้างฯ และบริษัทฯ จึงถือว่า ได้มีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายและนำส่งเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว แต่เป็นการคำนวณภาษีที่ผิดพลาดเกินกว่าต้องหักนำส่งจริง ดังนั้น จึงให้ผู้มีสิทธิขอคืนเงินภาษียื่นคำร้องขอคืนภาษีที่นำส่งไว้เกินได้ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่ โดยผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่าย ได้แก่ห้างฯ ผู้ขายซึ่งเป็นผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เว้นแต่บริษัทฯ ผู้ซื้อทอดตลาดจะสามารถพิสูจน์จนเป็นที่เชื่อถือได้ว่า เป็นผู้ชำระภาษีในส่วนที่บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เกินแทนห้างฯ ผู้ขายแล้ว ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีได้ในฐานะผู้เสียประโยชน์จากการนำส่งภาษีไว้เกิน ตามข้อ 4(5) ของระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ. 2539 สำหรับจำนวนเงินได้ที่จะต้องนำมาคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายนั้น เจ้าพนักงานประเมินจะต้องนำราคาที่ขายทอดตลาดได้บวกด้วยเงินค่าธรรมเนียมและค่าภาษีเงินได้ที่ผู้ซื้อทอดตลาดออกแทนให้ตามเงื่อนไขของกรมบังคับคดีเนื่องจาก เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร 2. ภาษีธุรกิจเฉพาะ ที่ดินที่ขายทอดตลาดมีชื่อห้างฯ เป็นผู้มีสิทธิครอบครองและเป็นที่ดินที่มีไว้ในการประกอบกิจการ เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ตามมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 91/2(6) แห่งประมวลรัษฎากร ห้างฯ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ธ.40 พร้อมชำระภาษีธุรกิจเฉพาะต่อเจ้าพนักงานที่ดินผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในอัตราร้อยละ 3.3 (รวมภาษีท้องถิ่น) ของรายรับจากราคาขายทอดตลาด และให้กรมที่ดินเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเพื่อกรมสรรพากร ตามมาตรา 91/10 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีผู้ซื้อทอดตลาดจะต้องเป็นผู้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามเงื่อนไขของการขายทอดตลาดของกรมบังคับคดี จะต้องนำภาษีที่ออกแทนให้มารวมคำนวณเป็นรายรับที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/5 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 6(4) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. 82/2542ฯ ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2542 กรณีผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ไม่ยื่นแบบ ภ.ธ.40 และชำระภาษีธุรกิจเฉพาะต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ณ วันจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท พร้อมเบี้ยปรับอีก 2 เท่า ของเงินภาษีที่ไม่ได้ชำระ และเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินที่ภาษีที่มิได้ชำระ ทั้งนี้ ตามมาตรา89(2) มาตรา 89/1 มาตรา 90(3) และมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เพื่อความเป็นธรรมและบรรเทาภาระภาษีแก่บริษัทฯ ที่จะต้องชำระภาษีแทนผู้ขาย จึงให้ขยายกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีธุรกิจเฉพาะออกไป โดยให้ชำระภาษีต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งให้ชำระภาษีจากสำนักงานสรรพากรพื้นที่โดยให้งดเบี้ยปรับ และค่าปรับอาญา แต่ยังคงต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 0.75 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่ง ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 อัฏฐ มาตรา 89/1 วรรคสอง และมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร |
เลขตู้ | : 70/35144 |