เลขที่หนังสือ | : กค. 0706/6803 |
วันที่ | : 9 กรกฎาคม 2550 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการบริการส่วนบุคคลที่ไม่เป็นอิสระ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร และอนุสัญญาฯ ไทย-ออสเตรเลีย |
ข้อหารือ | : บริษัท ก. จดทะเบียนในประเทศไทย แจ้งว่า ในปีภาษี 2548 บริษัท ข. จดทะเบียน ประเทศออสเตรเลีย ได้จัดส่งผู้บริหารซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศออสเตรเลียสามคน เข้ามาในประเทศไทยเพื่อบริหารจัดการงานของบริษัท ก. เป็นระยะ ๆ รวมเวลาทั้งหมดที่อยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 180 วัน ผู้บริหารดังกล่าว ได้รับเงินเดือนระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยจากบริษัท ข. ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับที่พักอาศัยในประเทศไทย บริษัท ก. เป็นผู้รับผิดชอบทั้งสิ้น บริษัท ก. จึงขอทราบว่า ผู้บริหารดังกล่าว จะต้องนำเงินเดือน และประโยชน์ที่ได้รับจากการได้พักอาศัยมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยหรือไม่ |
แนววินิจฉัย | : เงินเดือนและประโยชน์ใด ๆ ที่ผู้บริหารดังกล่าวได้รับในระหว่างที่ปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากหน้าที่งานในประเทศไทย ผู้บริหารดังกล่าว มีหน้าที่ต้องนำเงินได้และประโยชน์ที่ได้รับมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี เนื่องจากเงินได้และประโยชน์ใด ๆ ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นบริการส่วนบุคคลที่ไม่เป็นอิสระ ดังนั้น ผู้บริหารดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย หากมีข้อเท็จจริงเป็นตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ ; (1) ผู้บริหารนั้น อยู่ในประเทศไทยระยะหนึ่ง หรือ หลายระยะเวลารวมกันแล้วไม่เกิน 183 วัน ในปีภาษี ; (2) ค่าตอบแทนของผู้บริหารได้จ่ายโดย บริษัท ข.ซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในประเทศออสเตรเลีย และ ; (3) ค่าตอบแทนนั้น มิได้ตกเป็นภาระแก่สถานประกอบการถาวรซึ่งบริษัท ข. ผู้จ่ายเงินได้นั้นมีอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ ตามข้อ 15(2) แห่งความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับประเทศออสเตรเลียเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ ประกอบกับมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 |
เลขตู้ | : 70/35122 |