เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค. 0706/6856
วันที่: 10 กรกฎาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักลดหย่อนและการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ:         นางสาว พ. บิดาและมารดาโยชอบด้วยกฎหมายได้ร่วมกันกู้ยืมเงินจากธนาคารเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยบนที่ดินของมารดา นางสาว พ. และบิดาเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมิน มารดาเป็นผู้ไม่มีเงินได้พึงประเมิน จึงหารือว่า นางสาว พ. และบิดามีสิทธิหักลดหย่อนและยกเว้นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่จ่ายให้ธนาคารเพื่อสร้างอาคารใช้อยู่อาศัยกรณีดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย:         บิดาและมารดาเป็นหน่วยภาษีเดียวกัน นางสาว พ. และบิดาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมิน จึงมีสิทธิหักลดหย่อนดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่จ่ายให้ธนาคารเพื่อสร้างอาคารใช้อยู่อาศัยคนละกึ่งหนึ่ง ซึ่งรวมกันไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ตามข้อ 2(7) และ (8) ของ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 86) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ การหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 และมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่จ่ายให้ธนาคารเพื่อสร้างอาคารใช้อยู่อาศัยคนละกึ่งหนึ่ง ซึ่งรวมกันไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 40,000 บาท ตาม ข้อ 1(7) และ (8) ของ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 88) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อหรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามข้อ 2(53) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543
เลขตู้: 70/35129

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020