เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค. 0706/6506
วันที่: 3 กรกฎาคม 2550
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายค่าบริการให้บริษัทต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/2 และมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ        บริษัท A ในฐานะผู้แทนของบริษัท ก. (บริษัทฯ) ได้หารือเกี่ยวกับกรณีภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม ในการจ่ายค่าบริการให้บริษัทต่างประเทศ สรุปได้ว่า บริษัทฯ ประกอบกิจการซื้อขายอัญมณี โดยบริษัทฯ ได้สมัครสมาชิก (open an account) กับบริษัท (อี) ซึ่งเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายสมาพันธ์รัฐสวิส และมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย วัตถุประสงค์ของการสมัครสมาชิกกับ(อี) นั้นเพื่อการโฆษณา ขาย และประมูลอัญมณีของบริษัทฯ ผ่านทางเว็บไซต์ของ (อี) โดยบริษัทฯ จะส่งรายละเอียดของอัญมณีที่บริษัทฯ มีความประสงค์จะทำการโฆษณาให้กับ (อี) ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ และ(อี) จะทำการรวบรวมรายละเอียดต่าง ๆ และใส่ข้อมูลลงในเว็บไซต์ของ (อี) เมื่อข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับอัญมณีของบริษัทฯ อยู่ในเว็บไซท์ของ(อี) แล้ว ผู้ประมูลจากทั่วโลกจะสามารถเข้าร่วมประมูลเพื่อซื้ออัญมณีของบริษัทฯ ได้ โดยอัญมณีจะขายให้แก่ผู้ประมูลที่เสนอราคาสูงที่สุด ทั้งนี้ เซิร์ฟเวอร์ (server) ของ (อี) ที่ใช้ในการโฆษณา และจัดการประมูลนั้นตั้งอยู่นอกราชอาณาจักร
       1.กรมสรรพากรได้มีหนังสือลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2549 แจ้งให้บริษัทฯ ทราบว่า เนื่องจากผู้ประมูลจากทั่วโลก รวมทั้งผู้ประมูลที่อยู่ในประเทศไทยสามารถที่จะเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และเข้าไปยังเว็บไซต์ของ(อี) เพื่อเลือกชมอัญมณี และทำการประมูลอัญมณีของบริษัทฯ ได้ การให้บริการของ(อี) เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในต่างประเทศ และมีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินค่าบริการให้กับ(อี) บริษัทฯ จึงมีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ (อี) มีหน้าที่ต้องเสีย ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
        2. ต่อมาบริษัทฯ ได้มีหนังสือลงวันที่ 30 มีนาคม 2550 ขอให้กรมสรรพากรทบทวนความเห็นในกรณีดังกล่าว โดยบริษัทฯ ชี้แจงว่า เฉพาะแต่ผู้ว่าจ้างตามสัญญาเท่านั้นที่จะเป็นผู้ใช้บริการในราชอาณาจักรตามความหมายของมาตรา 77/2 วรรคท้าย แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ตามความผูกพันตามสัญญาในการให้บริการระหว่างบริษัทฯ และ (อี) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการในต่างประเทศ ผู้เข้าประมูลที่ประมูลอัญมณีของบริษัทฯ ซึ่งแม้จะอยู่ในประเทศไทย ก็มิใช่คู่สัญญากับ (อี) ดังนั้น ผู้เข้าร่วมประมูลจึงไม่อาจรับหรือใช้บริการใด ๆ จากสัญญาบริการนี้ได้ นอกจากนั้น ภายใต้สัญญาระหว่าง (อี) และบริษัทฯ (อี) ต้องรับผิดชอบต่อบริษัทฯ เฉพาะการให้บริการเท่านั้น โดย (อี) มิได้มีข้อตกลงตามสัญญากับผู้เข้าร่วมการประมูล จึงเห็นได้ชัดว่า (อี) ไม่สามารถให้บริการต่อผู้ประมูลไม่ว่าจะอยู่ในหรือนอกราชอาณาจักร และเนื่องจาก (อี) ไม่สามารถให้บริการ และไม่ได้ให้บริการต่อผู้ประมูลแต่อย่างใด จึงเป็นไปไม่ได้ที่ผู้ประมูลจะใช้บริการของ (อี) ดังนั้น บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ในการนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่(อี) มีหน้าที่ต้องเสียต่อกรมสรรพากร ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
แนววินิจฉัย        คำว่า "การใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร" ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร มิได้หมายความเฉพาะแต่ผู้ว่าจ้างตามสัญญาเท่านั้น ที่จะต้องเป็นผู้ใช้บริการที่ได้รับตามสัญญาในราชอาณาจักร หากแต่จะมุ่งพิจารณาว่ามีผู้ใดในราชอาณาจักรหรือไม่ที่จะสามารถใช้ผลของการให้บริการของ(อี) ในประเทศไทย ดังนั้น เมื่อผู้ประมูลที่อยู่ในประเทศไทยสามารถที่จะเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และเข้าไปยังเว็บไซต์ของ(อี) เพื่อเลือกชมอัญมนี และทำการประมูลอัญมณีของบริษัทฯ ได้ กรณีย่อมเข้าลักษณะการให้บริการที่ทำในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และบริษัทฯ ในฐานะผู้จ่ายเงินค่าบริการ มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ (อี) ในฐานะผู้ประกอบการ มีหน้าที่ต้องเสีย ตามมาตรา 77/2 และมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 70/35095

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020