เมนูปิด

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 68/2541

เรื่อง  ข้อผูกพันตามสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า

 

---------------------------------------------

 

                เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความประสงค์จะนำข้อผูกพันตามสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้ามาบันทึกบัญชี ณ วันทำสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศ โดยเหตุที่การบันทึกบัญชีสำหรับข้อผูกพันตามสัญญาดังกล่าวทำให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีเงินตรา ทรัพย์สิน หรือหนี้สินที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศซึ่งต้องคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1   บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความประสงค์จะนำข้อผูกพันตามสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้ามาบันทึกบัญชี ณ วันทำสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศ ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

                        (1) คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งที่ทำสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าต้องเป็นธนาคารพาณิชย์ไม่ว่าจะมีสถานประกอบการในประเทศไทยหรือไม่

                        (2) การทำสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าต้องเกิดจากความต้องการประกันความเสี่ยงในมูลหนี้ เพราะมีหนี้สินที่ต้องชำระในภายหน้า หรือมีลูกหนี้ที่จะได้รับชำระในภายหน้า

                        (3) กรณีที่ทำสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าจำนวนหลายสัญญาต้องนำสัญญาดังกล่าวมาบันทึกบัญชี ณ วันทำสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศทุกสัญญาจะเลือกปฏิบัติเพียงสัญญาหนึ่งสัญญาใดไม่ได้

 

                ข้อ 2   การบันทึกบัญชีสำหรับข้อผูกพันตามสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามข้อ 1 อาจมีผลทำให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีผลกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย ดังนั้น การบันทึกบัญชีเพื่อคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดำเนินการตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

                        (1) กรณีการทำสัญญาซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเนื่องจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีหนี้สินที่ต้องชำระให้แก่เจ้าหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ

                              (ก) เมื่อมีการทำสัญญาซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้ากับธนาคารเพื่อประกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนในสกุลเงินที่จะต้องชำระคืนให้แก่เจ้าหนี้ ถือว่าธนาคารมีภาระต้องส่งมอบเงินตราต่างประเทศให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีภาระต้องชำระเงินตราไทยให้แก่ธนาคารนั้นตามสัญญา จึงต้องบันทึกบัญชีโดยบันทึกบัญชีธนาคารคู่สัญญาเป็นทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้

                              (ข) กรณีที่ยังไม่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้หรือการชำระหนี้ยังไม่หมดสิ้นในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี และยังไม่ถึงกำหนดเวลาส่งมอบเงินตราต่างประเทศตามสัญญาซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องปรับปรุงอัตราแลกเปลี่ยนของภาระผูกพันเจ้าหนี้เงินตราต่างประเทศ และลูกหนี้ธนาคารคู่สัญญาตาม(ก) ให้เป็นไปตามเงื่อนไขตามมาตรา 65 ทวิ (5) วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร

                              (ค) เมื่อถึงกำหนดเวลาส่งมอบเงินตราต่างประเทศตามสัญญาซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ธนาคารคู่สัญญาตาม (ก) ต้องชำระเงินตราต่างประเทศให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับเงินตราต่างประเทศในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชีซึ่งต้องคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามราคาตลาด (อัตราธนาคารพาณิชย์รับซื้อ) ตามมาตรา 65 ทวิ (5) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ในขณะเดียวกันบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องชำระเงินตราไทยให้แก่ธนาคารคู่สัญญาด้วย เป็นผลทำให้สถานะการเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้หมดสิ้นไป

                              (ง) กรณีที่วันถึงกำหนดชำระหนี้ และวันถึงกำหนดส่งมอบเงินตราต่างประเทศตามสัญญาซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเป็นวันเดียวกัน เมื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้โดยการโอนเงินตราต่างประเทศที่ได้รับจากธนาคารคู่สัญญาตาม (ก) ถือว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจ่ายเงินตราต่างประเทศไปในระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี ซึ่งต้องคำนวณค่าหรือราคาเป็นเงินตราไทยตามราคาตลาด (อัตราธนาคารพาณิชย์ขาย) ในวันที่จ่ายไปนั้นตามมาตรา 65 ทวิ (5) วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ทำให้เกิดผลตางระหว่างอัตราธนาคารพาณิชย์ซื้อและอัตราธนาคารพาณิชย์ขาย เป็นผลกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น แล้วแต่กรณี

                        (2) กรณีการทำสัญญาขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าเนื่องจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีเงินตรา หรือทรัพย์สินที่จะได้รับชำระจากลูกหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ จะต้องบันทึกรายการทางบัญชีตามหลักการเดียวกันทุกขั้นตอน

 

                ข้อ 3  กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามข้อ 1 เลือกนำข้อผูกพันตามสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้ามาบันทึกบัญชี ณ วันทำสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามข้อ 2 แล้ว

                        (1) การคำนวณกำไรหรือขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่เกิดจากการบันทึกบัญชีข้อผูกพันตามสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะต้องถือปฏิบัติตามมาตรา 65 ทวิ (5) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งทำให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสิทธิเลือกปฏิบัติตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเนื่องจากการปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ด้วย

                        (2) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องบันทึกบัญชีข้อผูกพันตามสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าทั้งในบัญชีของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเอง รวมตลอดทั้งในบัญชีเพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วย

 

                ข้อ 4  บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หนังสือตอบข้อหารือหรือทางปฏิบัติใด ที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ ให้เป็นอันยกเลิก

 

                คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดลงในหรือหลังวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 เป็นต้นไป

 

สั่ง ณ วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2541

 

ร้อยเอก สุชาติ เชาว์วิศิษฐ

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022