เมนูปิด

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 66/2539

เรื่อง  การแจ้งเลิกประกอบกิจการตามมาตรา 85/15 แห่งประมวลรัษฎากร

 

---------------------------------------------

 

                เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจและแนะนำผู้ประกอบการจดทะเบียนปฏิบัติในกรณีเลิกประกอบกิจการและแจ้งการเลิกกิจการ ตามมาตรา 85/15 แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการและแจ้งการเลิกกิจการตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ณ สถานที่ที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ซึ่งต้องระบุว่าเลิกประกอบกิจการ ณ วันใดพร้อมกับคืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการจดทะเบียนยังคงต้องรับผิดในฐานะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนต่อไปจนกว่าอธิบดีกรมสรรพากรจะสั่งขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้นออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85/18 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น การขายสินค้าหรือการให้บริการที่ผู้ประกอบการดังกล่าวได้กระทำตั้งแต่วันถัดจากวันที่ยื่นแบบเพื่อแจ้งเลิกการประกอบกิจการเป็นต้นไป ผู้ประกอบการยังคงต้องรับผิดเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าและการให้บริการดังกล่าว ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร

 

                        กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียน ที่แจ้งเลิกการประกอบกิจการตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการไม่มีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ สำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการตั้งแต่วันถัดจากวันที่ยื่นแบบเพื่อแจ้งเลิกการประกอบกิจการ แต่ยังคงต้องมีหน้าที่ออกใบรับตามมาตรา 105 และใบส่งของตามมาตรา 105 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร และไม่มีสิทธิ์นำภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือรับบริการที่ได้กระทำตั้งแต่วันถัดจากวันที่ยื่นแบบเพื่อแจ้งเลิกการประกอบกิจการ จนถึงวันที่อธิบดีกรมสรรพากรสั่งขีดชื่อออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษี ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร

                        กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียน ที่แจ้งเลิกการประกอบกิจการตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/16 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการยังคงมีหน้าที่ต้องออกใบรับตามมาตรา 105 และใบส่งของตามมาตรา 105 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร

 

                ข้อ 2  ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3และมาตรา 82/16 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้แจ้งเลิกการประกอบกิจการตามข้อ 1 มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าคงเหลือหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ ซึ่งตามมาตรา 77/1(8)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ถือเป็นการขายและให้ถือมูลค่าของฐานภาษีตามราคาตลาด ณ วันเลิกประกอบกิจการ ตามมาตรา 79/3(5) แห่งประมวลรัษฎากรด้วย

                        โดยเหตุที่กรณีดังกล่าวตามวรรคหนึ่งไม่มีการส่งมอบสินค้า ไม่มีการรับชำระเงินค่าสินค้า ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงไม่มีหน้าที่ต้องออกใบส่งของ ใบรับ และใบกำกับภาษีตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรแต่อย่างใด

                        ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนที่แจ้งเลิกการประกอบกิจการได้ขายสินค้าคงเหลือหรือทรัพย์สินที่มีไว้ในการประกอบกิจการให้แก่ผู้ซื้อไปจริงในเดือนภาษีใด ไม่ต้องนำมูลค่าของสินค้าหรือทรัพย์สินดังกล่าว มารวมคำนวณเป็นฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากรอีก และไม่มีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษีตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร แต่ยังคงมีหน้าที่ออกใบรับตามมาตรา 105 และใบส่งของตามมาตรา 105 จัตวา แห่งประมวลรัษฎากร

 

                ข้อ 3  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียน ซึ่งได้แจ้งเลิกการประกอบกิจการตามข้อ 1 ได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการไปแล้วก่อนวันที่ยื่นแบบเพื่อแจ้งเลิกการประกอบกิจการ และได้นำภาษีขายไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต่อมาถ้ามีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา 82/9 และมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากรเกิดขึ้นอันเป็นเหตุให้ภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้นหรือลดลงไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ผู้ประกอบการดังกล่าวยังคงมีสิทธิ์ออกใบเพิ่มหนี้ตามมาตรา 86/9 หรือใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ แต่ทั้งนี้จะต้องออกใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ แล้วแต่กรณี ภายใน 60 วันนับแต่วันถัดจากวันที่ยื่นแบบเพื่อแจ้งเลิกการประกอบกิจการ

 

                ข้อ 4  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียน ซึ่งได้แจ้งเลิกการประกอบกิจการตามข้อ 1 ได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการไปแล้วก่อนวันที่ยื่นแบบเพื่อแจ้งเลิกการประกอบกิจการ แต่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและในการออกใบกำกับภาษียังไม่เกิดขึ้น หากความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการดังกล่าวได้เกิดขึ้นนับแต่วันถัดจากวันที่ยื่นแบบเพื่อแจ้งเลิกการประกอบกิจการ ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวยังคงมีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการนั้นตามมาตรา 86 แห่งประมวลรัษฎากร ภายใน 60 วันนับแต่วันถัดจากวันที่ยื่นแบบเพื่อแจ้งเลิกการประกอบกิจการ

 

                ข้อ 5  กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้แจ้งเลิกการประกอบกิจการตามข้อ1 ได้ซื้อสินค้าหรือรับบริการไปแล้วก่อนวันที่ยื่นแบบเพื่อแจ้งเลิกการประกอบกิจการ แต่ได้รับใบกำกับภาษีสำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันที่ยื่นแบบเพื่อแจ้งเลิกการประกอบกิจการ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธิ์นำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีนั้นมาหักในการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากรได้

 

                ข้อ 6  ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ใช้สิทธิ์ตามข้อ 4 และข้อ 5 ต้องแสดงรายละเอียดการใช้สิทธิ์ตามข้อ 4 และข้อ 5 ในเอกสารตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด โดยยื่นพร้อมกับแบบที่ยื่นเพื่อแจ้งเลิกการประกอบกิจการ

 

คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2540 เป็นต้นไป

 

สั่ง ณ วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2539

 

ร้อยเอก สุชาติ เชาว์วิศิษฐ

อธิบดีกรมสรรพากร

 

(ร.จ.ฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 114 ตอนที่ 6 ง วันที่ 21 มกราคม 2540)

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022