เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/8484
วันที่: 22 สิงหาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีจำหน่ายเครื่องแบบและสร้างบ้านพักให้นักงานเป็นสวัสดิการ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40 มาตรา 65 ตรี มาตรา 78 มาตรา 79 มาตรา 79/3 และมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ        บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตไม้สำเร็จรูป บริษัทฯ มีนโยบายจัดหาสวัสดิการให้พนักงานตามข้อตกลงสภาพการจ้าง ดังนี้
        1. จำหน่ายเครื่องแบบ เช่น เสื้อยืดและรองเท้า ในราคาที่ต่ำกว่าทุน เสื้อราคาตัวละ 150 บาท กำหนดราคาขาย
        2. จัดสร้างบ้านพักอาศัยให้แก่พนักงานโดยคิดค่าตอบแทน ดังนี้
        บริษัทฯ เห็นว่า
             1. กรณีจำหน่ายเครื่องแบบให้แก่พนักงานในราคาที่ต่ำกว่าทุน
                  1.1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนต่างของราคาทุนกับราคาขาย เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (10) แห่งประมวลรัษฎากร
                  1.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล การขายสินค้าต่ำกว่าราคาทุน เข้าลักษณะมีเหตุอันสมควรตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร และรายจ่ายค่าเสื้อยืดและรองเท้า ถือเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการ บริษัทฯ มีสิทธินำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้
                  1.3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม การขายสินค้าต่ำกว่าราคาทุน เข้าลักษณะมีเหตุอันสมควรไม่ต้องนำส่วนต่างของราคาทุนกับราคาขายมารวมคำนวณเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79/3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีซื้อที่จ่ายไปในการซื้อสินค้าถือเป็นภาษีซื้อเพื่อกิจการไม่ต้องห้ามนำไปหักจากภาษีขายตามมาตรา 82/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร
             2. การสร้างบ้านพักให้พนักงานอยู่อาศัย เป็นกรณีการให้บริการโดยไม่มีค่าตอบแทน
                  2.1 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
             (ก) พนักงานได้อยู่บ้านโดยไม่เสียค่าเช่า บริษัทฯ ต้องคำนวณเป็นเงินได้ของพนักงานในอัตราร้อยละ 20 ของเงินเดือนหรือค่าจ้างรวมกับเงินเพิ่มตลอดปี (ถ้ามี) โดยไม่รวมเงินโบนัสที่จ่ายเป็นรายปี
                  กรณีพนักงานหลายคนอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน บริษัทฯ ต้องแยกคำนวณในอัตราร้อยละ 20 ของเงินเดือนแต่ละคน หากเงินได้ของพนักงานแต่ละคนรวมกันมากกว่าราคาตลาดของค่าเช่าบ้าน สามารถนำราคาตลาดที่แท้จริงมาถือเป็นฐานในการคำนวณและปันส่วนประโยชน์เพิ่มที่พนักงานแต่ละคนพึงได้รับ
                  (ข) กรณีบริษัทฯ ไม่เรียกเก็บค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ มูลค่าทั้งหมดของค่าใช้จ่ายที่บริษัทฯ ได้จ่ายไปจริง ถือเป็นส่วนหนึ่งของประโยชน์เพิ่ม ต้องนำมารวมคำนวณเป็นเงินได้ของพนักงาน
                  กรณีพนักงานมากกว่าหนึ่งคน บริษัทฯ สามารถปันเงินได้ของพนักงานแต่ละคน โดยการถัวเฉลี่ยตามจำนวนคนที่อยู่ในบ้าน
                  2.2 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีไม่เรียกเก็บค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า เข้าลักษณะมีเหตุอันสมควรตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร รายจ่ายดังกล่าวถือเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการ บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
                  2.3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีไม่เรียกเก็บค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า เข้าลักษณะมีเหตุอันสมควร ไม่ต้องนำมูลค่ามารวมคำนวณเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79/3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าถือเป็นภาษีซื้อเพื่อกิจการไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 (3) แห่งประมวลรัษฎากร
             3. กรณีบริษัทฯ รับเงินมัดจำค่าเครื่องแบบ สำหรับพนักงานที่เข้าใหม่ เมื่อได้ผ่านทดลองงานแล้ว บริษัทฯ จะคืนเงินส่วนนี้ให้แก่พนักงานเพื่อเป็นสวัสดิการ บริษัทฯ จะออกใบกำกับภาษี ณ วันที่ได้รับเงินมัดจำ และออกใบลดหนี้ (Credit Note)เมื่อคืนเงินให้แก่พนักงาน
แนววินิจฉัย        1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
             1.1 ตามข้อ 1.1 มูลค่าของส่วนต่างของราคาทุนกับราคาขายสินค้าเสื้อยืดและรองเท้าที่บริษัทฯ ลดให้ในขณะขายสินค้า เข้าลักษณะเป็นส่วนลดที่บริษัทฯ ขายสินค้าราคาถูก ให้แก่พนักงานเป็นสวัสดิการตามข้อตกลงสภาพการจ้าง ไม่ถือเป็นเงินได้หรือประโยชน์เพิ่มใดๆ ที่ได้รับ เนื่องจากการจ้างแรงงาน หรือเนื่องจากหน้าที่ หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 39 และมาตรา 40 (1) หรือมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร พนักงานไม่ต้องนำส่วนลดนั้นมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
             1.2 ตามข้อ 2.1 แยกพิจารณาได้ ดังนี้
                  (ก) กรณีมูลค่าของการได้อยู่บ้านพักโดยไม่เสียค่าเช่า เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 และมาตรา 40 (1) หรือมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องนำประโยชน์เพิ่มที่ได้รับทั้งหมด มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในอัตราร้อยละ 20 ของเงินเดือนหรือค่าจ้าง รวมทั้งเงินเพิ่มตลอดปี (ถ้ามี) โดยไม่รวมเงินโบนัสที่จ่ายเป็นรายปี กรณีพนักงานหลายคนอยู่บ้านหลังเดียวกันโดยไม่เสียค่าเช่า ให้คำนวณประโยชน์เพิ่มเป็นเงินได้พึงประเมินของพนักงานแต่ละคนในอัตราร้อยละ 20 ของเงินเดือนหรือค่าจ้าง รวมทั้งเงินเพิ่มตลอดปี (ถ้ามี) โดยไม่รวมเงินโบนัสที่จ่ายเป็นรายปี ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.23/2533 เรื่อง การกำหนดมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่าเป็นเงินได้พึงประเมินลงวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2533
                  (ข) กรณีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายภายในบ้านที่บริษัทฯ ได้จ่ายไปจริง เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 และมาตรา 40 (1) หรือมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ถือเป็นประโยชน์เพิ่มที่พนักงานได้รับทั้งสิ้น จึงต้องนำประโยชน์เพิ่มที่ได้รับทั้งหมดมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
        2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล
             2.1 ตามข้อ 1.2 กรณีการให้ส่วนลดในขณะขายเสื้อยืดและรองเท้ามูลค่าของส่วนต่างของราคาทุนกับราคาขายเสื้อยืดและรองเท้า เข้าลักษณะเป็นส่วนลดที่บริษัทฯ ขายสินค้าราคาถูกให้แก่พนักงานเป็นสวัสดิการตามข้อตกลงสภาพการจ้าง บริษัทฯ ไม่ต้องนำส่วนลดดังกล่าวมารวมคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 และมาตรา 65 ทวิ (4)แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ มีสิทธินำต้นทุนสินค้านั้นมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร
             2.2 ตามข้อ 1.4 (ข) กรณีบริษัทฯ แถมสินค้าแก่พนักงานในขณะขายเสื้อยืดและรองเท้า เข้าลักษณะเป็นของแถมให้แก่พนักงานเป็นสวัสดิการตามข้อตกลงสภาพการจ้าง บริษัทฯ มีสิทธินำต้นทุนสินค้าที่แถมนั้นมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร
             2.3 ตามข้อ 2.2 กรณีบริษัทฯ สร้างบ้านพักให้พนักงานอยู่อาศัย โดยไม่มีค่าตอบแทน หากเป็นกรณีที่บริษัทฯ ต้องจัดให้พนักงานอยู่อาศัย และแจ้งให้พนักงานทุกคนทราบเป็นการทั่วไป มิใช่นโยบายภายในที่รู้กันเฉพาะพนักงานบางรายแล้ว บริษัทฯ มีสิทธินำค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้ามาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร
        3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม
             3.1 ตามข้อ 1.4 (ก) กรณีบริษัทฯ ขายเสื้อหนึ่งตัวแถมหนึ่งตัว เสื้อที่แถมมีมูลค่าไม่เกินมูลค่าสินค้าที่ขาย ถือเป็น "การขาย" ตามมาตรา 77/1 แห่งประมวลรัษฎากร แต่บริษัทฯไม่ต้องนำมูลค่าของ "ของแถม" มารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 (4) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)ฯ ลงวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2535
             3.2 ตามข้อ 1.3 และข้อ 2.3 กรณีบริษัทฯ ขายเสื้อยืดและรองเท้าต่ำกว่าราคาทุน ที่ไม่เข้าลักษณะมีเหตุอันสมควร ไม่ถือเป็นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 79 (1) และมาตรา 79/3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
        กรณีบริษัทฯ ให้พนักงานใช้น้ำประปาและไฟฟ้า โดยไม่คิดค่าตอบแทนถือเป็นการขายสินค้า ต้องนำค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้ามารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี ในการคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 78/3 และมาตรา 79/3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
        ภาษีซื้อที่จ่ายไปเมื่อชำระค่าเสื้อยืดและรองเท้า ค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าของบ้านพัก เข้าลักษณะเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ จึงไม่ต้องห้ามนำมาหักจากภาษีขายตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร
        4. ตามข้อ 3 กรณีรับเงินมัดจำค่าเสื้อยืดและรองเท้า ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้า เกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า เว้นแต่ กรณีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์สินค้าได้มีการชำระราคาสินค้า หรือได้มีการออกใบกำกับภาษีก่อนส่งมอบสินค้า บริษัทฯ จึงต้องออกใบกำกับภาษีตามมูลค่าที่ได้รับชำระค่ามัดจำนั้น เมื่อบริษัทฯ ได้มีข้อตกลงต้องคืนเงินมัดจำค่าเสื้อยืดและรองเท้าให้กับพนักงานเมื่อผ่านทดลองงานแล้ว บริษัทฯ มีสิทธิออกใบลดหนี้เมื่อคืนเงินมัดจำให้แก่พนักงานได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 78 (1) มาตรา 82/10 มาตรา 86 และมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 82)ฯลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2542
เลขตู้: 70/35235

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020