เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/8570
วันที่: 23 สิงหาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและอากรแสตมป์ กรณีโอนที่ดินกลับคืนกองมรดก
ข้อกฎหมาย: มาตรา 39 และมาตรา 50(6) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ        นาย ก. ได้ถูกศาลจังหวัด ข. พิพากษาถึงที่สุด ให้นาย ก. ถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกทั้งหมดของนาง ค. ผู้ตาย เนื่องจาก มีพฤติการณ์ปิดบังและยักย้ายทรัพย์มรดกตามมาตรา 1605 วรรคแรก แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้นาย ก. แบ่งที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 30126 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองและทายาทผู้มีสิทธิ์รับมรดกของผู้ตายทุกคน คนละหนึ่งส่วนเท่ากัน หากแบ่งไม่ได้ให้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ดังกล่าว ออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินที่ได้มาแบ่งปันกันตามส่วน โดยที่ดินดังกล่าว ได้จดทะเบียนโอนมรดกจากชื่อนาง ค. เจ้ามรดกไปเป็นชื่อของนาย ก. ทายาทแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2544 จังหวัดลพบุรีได้หารือกรมที่ดินว่า กรณีดังกล่าวพนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน เพื่อให้ที่ดินแปลงกลับคืนสู่กองมรดกของนาง ค. อย่างไร และจะต้องเก็บค่าธรรมเนียม ภาษีเงินได้หัก ณ ที่ จ่าย และอากรแสตมป์หรือไม่
แนววินิจฉัย        เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินมรดกตามคำพิพากษาดังกล่าว ต้องโอนให้แก่ทายาท กรณีโอนให้แก่ผู้จัดการมรดก จึงเป็นการโอนที่ดินไม่เป็นไปตามคำพิพากษาตามมาตรา 145 และมาตรา 148 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่เข้าลักษณะเป็นการโอนที่ดินโดยทางมรดก ถือเป็นการขาย ตามคำนิยามในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จึงต้องหักภาษีเงินได้ ณที่จ่าย ตามมาตรา 50(6) แห่งประมวลรัษฎากร และต้องเสียอากรแสตมป์ตามลักษณะแห่งตราสาร 28.(ข) ใบรับ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์
เลขตู้: 70/35242

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020