เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/8150
วันที่: 17 สิงหาคม 2550
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการเรียกเก็บเบี้ยประกันวินาศภัย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 33 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ        นิติบุคคลอาคารชุด ว. ได้หารือเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการเรียกเก็บเบี้ยประกันวินาศภัย สรุปรายละเอียดได้ความว่า นิติบุคคลฯ ได้ทำประกันวินาศภัยอาคารและทรัพย์สินส่วนกลาง (มิใช่ประกันแต่ละห้องชุด) ของอาคารชุด ว. ซึ่งเป็นอาคารที่นิติบุคคลฯ ดูแล โดยนิติบุคคลฯ ได้จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันภัยแล้วจึงนำเบี้ยประกันภัยที่นิติบุคคลฯ ได้จ่ายไปนั้น มาคำนวณหาค่าเฉลี่ยตามพื้นที่ตารางของห้องชุดแต่ละห้องและเรียกเก็บจากเจ้าของห้องชุด
        จึงขอทราบว่า เบี้ยประกันภัยที่นิติบุคคลฯ เรียกเก็บจากเจ้าของห้องชุดในอาคาร ว. นั้น ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
แนววินิจฉัย        กรณีนิติบุคคลฯ ทำประกันวินาศภัยอาคารและทรัพย์สินส่วนกลาง (มิใช่ประกันแต่ละห้องชุด) ของอาคารชุด ว. ซึ่งเป็นอาคารชุดที่นิติบุคคลฯ ดูแลนั้น ถือเป็นการจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางอันเป็นไปตามปกติวิสัยของการจัดการดูแลรักษาอาคารชุดตามความจำเป็นและสมควร ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในข้อบังคับของนิติบุคคลฯ และมาตรา 33 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 การที่นิติบุคคลฯ จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันภัย ค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าวจึงเข้าลักษณะค่าใช้จ่ายอันจำเป็นต่อการจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง เมื่อนิติบุคคลฯเรียกเก็บเบี้ยประกันภัยที่ได้จ่ายให้แก่บริษัทประกันภัยคืนจากเจ้าของห้องชุดในอาคาร โดยเฉลี่ยตามส่วนแห่งพื้นที่ของห้องชุด ทั้งนี้ ตามมาตรา 18 และมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุดฯ นิติบุคคลฯ จึงไม่ต้องนำค่าเบี้ยประกันภัยดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 33/2540 เรื่อง ภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของนิติบุคคลอาคารชุด ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2540
เลขตู้: 70/35214

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020