เลขที่หนังสือ | : กค 0706/พ./8020 |
วันที่ | : 14 สิงหาคม 2550 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2 มาตรา 86/13 มาตรา 90/4(3) มาตรา 89/1 มาตรา 89(6) มาตรา 82/5(5) มาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | 1. บริษัทฯ ประกอบกิจการรับเหมาเกี่ยวกับงานขุดลอก บำรุงรักษา ปรับถมพื้นที่ การขยาย การขุดเจาะ การต่อพื้นที่ให้แก่ เมืองท่า ท่าเรือ แม่น้ำ คลอง ช่องแคบ งานอุตสาหกรรมบริษัทฯ ได้เรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัท บี เนื่องจากข้อมูลทางเทคนิคที่บริษัท บี มอบให้แก่บริษัทฯ ไม่ถูกต้อง เป็นผลให้เกิดความเสียหายในการคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ เมื่อบริษัท บี ไม่ยอมจ่ายค่าเสียหาย บริษัทฯ จึงนำข้อพิพาทดังกล่าวให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา ต่อมาในปี 2548 บริษัท บี ยินยอมยุติปัญหาโดยจ่ายค่าเสียหายจำนวน 65 ล้านบาทให้แก่บริษัทฯ โดยบริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษี เลขที่ 021 ลงวันที่ 26 กันยายน 2548 เป็นค่าเสียหายจำนวน 60,747,663.55 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 4,252,336.45 บาท แต่บริษัทฯ มิได้ส่งมอบใบกำกับภาษีขายให้แก่บริษัท บี 2. บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ. 30สำหรับเดือนภาษีกันยายน 2548 โดยแสดงยอดขายจำนวน 60,747,663.55 บาท ภาษีขายจำนวน4,252,336.45 บาท ยอดซื้อจำนวน4,861,438.64 บาท ภาษีซื้อจำนวน 340,300.70 บาท เมื่อคำนวณภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อแล้ว มีภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระจำนวน 3,912,035.75 บาท มีเครดิตภาษียกมาจำนวน 7,479,841.27 บาท จึงมีภาษีชำระไว้เกินจำนวน 3,567,805.52 บาท 3. บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ.30 เพิ่มเติมเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของค่าความเสียหายที่บริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีขายซึ่งได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วจำนวน 4,252,336.45 บาท เนื่องจากบริษัทฯ เห็นว่าค่าความเสียหาย ไม่ถือเป็นมูลค่าที่ได้รับจากการขายสินค้าหรือให้บริการ จึงไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม |
แนววินิจฉัย | 1. บริษัทฯ ประกอบกิจการรับเหมาฯ เมื่อบริษัทฯ ได้รับเงินจากบริษัท บี เป็นค่าเสียหายจากความผิดพลาดของข้อมูลทางเทคนิคในการคำนวณค่าใช้จ่ายต่างๆ เกี่ยวกับโครงการรับเหมา เงินที่บริษัทฯ ได้รับดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนจากการให้บริการจึงไม่อยู่ในบังคับ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น บริษัทฯ จึงเป็นผู้ไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีสำหรับเงินค่าชดเชยความเสียหาย ตามาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร กรณีบริษัทฯ ได้ออกใบกำกับภาษีไปแล้ว บริษัทฯ จึงต้องรับผิดทางอาญา ตามมาตรา 90/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้นำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยยื่นแบบ ภ.พ. 30 สำหรับเดือนภาษีกันยายน 2548 ระบุเป็นยอดขายจำนวน 60,747,663 บาท ภาษีขายจำนวน 4,252,336.45 บาท ดังนั้น บริษัทฯ ต้องรับผิดในภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/13 แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษี ตามมาตรา 89(6) แห่งประมวลรัษฎากร และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษี ตามมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร และมีความผิดทางอาญาต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาทตามมาตรา 90/4(3) แห่งประมวลรัษฎากร โดยบริษัท บี ก็ไม่มีสิทธิ์นำใบกำกับภาษีดังกล่าวไปถือเป็นภาษีซื้อ ต้องห้ามตามมาตรา 82/5(5) แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณี บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.พ. 30 สำหรับเดือนภาษีกันยายน 2548 ระบุเป็นยอดขายจำนวน 60,747,663 บาท ภาษีขายจำนวน 4,252,336.45 บาท เมื่อคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว บริษัทฯ มีภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ บริษัทฯได้นำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระไปคำนวณหักกับเครดิตภาษีที่บริษัทฯ คงเหลืออยู่ไว้แล้ว จึงเห็นได้ว่า บริษัทฯไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี และเพื่อความเป็นธรรม และสร้างความสมัครใจในการเสียภาษี จึงเห็นควรงดเบี้ยปรับตามมาตรา 89(3)(4) และ(6) แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่บริษัทฯ ตามข้อ 2 และข้อ 11 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และมาตรา 91/21(6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 |
เลขตู้ | : 70/35194 |