เมนูปิด

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 39/2537

เรื่อง  การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการสนามกอล์ฟ

 

---------------------------------------------

 

                เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติ สำหรับกรณีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มของกิจการสนามกอล์ฟ กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1  กรณีการให้บริการสนามกอล์ฟ ให้ถือปฏิบัติดังนี้

                        (1) เนื่องจากมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร ได้กำหนดให้การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้าเป็นบริการผู้ประกอบกิจการสนามกอล์ฟ จึงต้องนำมูลค่าทั้งหมดที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการให้บริการ ไม่ว่าจะเรียกเก็บในลักษณะเป็นเงินค่าสมาชิก เงินประกัน เงินมัดจำ เงินจ่ายล่วงหน้าเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย หรือเงินอื่นที่เรียกเก็บในลักษณะทำนองเดียวกันทั้งที่เกิดจากการผ่อนชำระหรือชำระครั้งเดียวมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย โดยถือว่าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการเกิดขึ้นในขณะได้รับชำระเงินดังกล่าวตามมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่มีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่ผู้รับบริการ

                              ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ปฏิบัติตามวรรคหนึ่งแล้ว ต่อมาหากได้มีการคืนเงินประกันหรือเงินมัดจำ ฯลฯ ให้แก่สมาชิกตามข้อตกลงหรือสัญญาการเป็นสมาชิก ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบลดหนี้ตามมาตรา 86/10 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่สมาชิกตามมาตรา 82/10 แห่งประมวลรัษฎากร

                        (2) ในลักษณะเดียวกันกับ (1) ผู้ประกอบกิจการสนามกอล์ฟที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร จะต้องนำมูลค่าทั้งหมดที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการให้บริการตาม (1) มาถือเป็นรายได้เพื่อรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย โดยให้ถือเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้เริ่มให้บริการแก่สมาชิกรายนั้น ๆ หรือจะนำรายได้นั้นมาเฉลี่ยตามส่วนแห่งจำนวนปีตามสัญญาการให้บริการก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินสิบปี และให้นำมารวมคำนวณเป็นรายได้ตามส่วนเฉลี่ยนั้น

                              ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการสนามกอล์ฟได้ปฏิบัติตามวรรคหนึ่งแล้ว ต่อมาหากได้มีการคืนเงินประกันหรือเงินมัดจำ ฯลฯ ให้แก่สมาชิกตามข้อตกลงหรือสัญญาการเป็นสมาชิก ให้ผู้ประกอบกิจการสนามกอล์ฟนำเงินประกันที่ได้คืนให้แก่สมาชิกมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร โดยให้ถือเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้คืนเงินประกันให้แก่สมาชิก

 

                “ข้อ 2  กรณีการให้บริการ การถือถุงไม้กอล์ฟให้ถือปฏิบัติดังนี้

                        โดยที่สนามกอล์ฟมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดให้มีผู้ถือถุงไม้กอล์ฟ (แคดดี้) ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการการให้บริการของสนามกอล์ฟ ดังนั้นค่าบริการการถือถุงไม้กอล์ฟดังกล่าวจึงเป็นค่าบริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและเป็นเงินได้ที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ของสนาม กอล์ฟ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงค่าบริการการถือถุงไม้กอล์ฟ ซึ่งผู้ถือถุงไม้กอล์ฟไม่ได้เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของสนามกอล์ฟในกรณีดังต่อไปนี้

                         (1) กรณีผู้ถือถุงไม้กอล์ฟเป็นผู้ให้บริการและได้รับเงินค่าบริการจากนักกอล์ฟเองโดยตรง โดยสนามกอล์ฟมิได้เป็นผู้กำหนดอัตราค่าบริการและหรือมิได้จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ ในการให้บริการดังกล่าว เว้นแต่จะจัดให้มีเพียงเล็กน้อย

                        (2) กรณีสนามกอล์ฟเป็นผู้กำหนดอัตราค่าบริการและหรือเรียกเก็บค่าบริการจากนักกอล์ฟโดยสนามกอล์ฟได้เรียกเก็บค่าตอบแทนจากผู้ถือถุงไม้กอล์ฟด้วยวิธีการหักจากค่าบริการดังกล่าว ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของค่าบริการการถือถุงไม้กอล์ฟ และได้นำค่าตอบแทน นั้นมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ของสนามกอล์ฟ

                        (3) กรณีสนามกอล์ฟเป็นผู้กำหนดอัตราค่าบริการและหรือเรียกเก็บค่าบริการจากนักกอล์ฟโดยสนามกอล์ฟได้เรียกเก็บค่าตอบแทน จากผู้ถือถุงไม้กอล์ฟ ด้วยวิธีการให้ผู้ถือถุงไม้กอล์ฟทำงานให้สนามกอล์ฟเป็นการตอบแทนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมง โดยสนามกอล์ฟไม่ได้จ่ายค่าจ้างหรือจ่ายค่าจ้างให้แต่ต่ำกว่าอัตราค่าจ้างของพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่เดียวกัน และได้นำค่าตอบแทนนั้นซึ่งคำนวณตามอัตราค่าจ้างปกติมาเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้ของสนามกอล์ฟ”

 

                “ข้อ 3  บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยใดที่ขัดหรือแย้งกับคำสั่งนี้ให้เป็นอันยกเลิก”

(แก้ไขเพิ่มเติมโดย ป.42/2537 ใช้บังคับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2537 เป็นต้นไป)

 

สั่ง ณ วันที่ 11 มกราคมพ.ศ. 2537

 

จัตุมงคล โสณกุล

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022