เมนูปิด

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป. 37/2536

เรื่อง  การใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อในห้างสรรพสินค้า

 

---------------------------------------------

 

                เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับกรณีการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อด้วยเครื่องบันทึกการเก็บเงินในห้างสรรพสินค้าตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

 

                ข้อ 1  ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าในห้างสรรพสินค้า โดยขายสินค้าทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินในการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังนี้

                        (1) การขายสินค้าในแผนกที่มีสินค้าทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น แผนก Super Market

                                 (ก) หากห้างสรรพสินค้าขายสินค้าทั้งประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในคราวเดียวกัน ห้างสรรพสินค้าสามารถใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินซึ่งได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การอนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2536 ในการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ โดยจะต้องมีรหัสหรือเครื่องหมายที่แสดงความแตกต่างระหว่างสินค้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว

                                 (ข) หากห้างสรรพสินค้าขายสินค้าเฉพาะประเภทที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเพียงประเภทเดียว ห้างสรรพสินค้าสามารถใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินซึ่งได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2536 ในการออกใบเสร็จรับเงินได้ แต่จะต้องไม่มีข้อความว่า "ใบกำกับภาษีอย่างย่อ" ในใบเสร็จรับเงินดังกล่าว และจะต้องมีรหัสหรือเครื่องหมายหรือข้อความที่แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่ามิใช่ใบกำกับภาษีอย่างย่ออยู่ในใบเสร็จรับเงินนั้น และในม้วนกระดาษต่อเนื่องบันทึกรายการประจำวัน (Daily Transaction Journal) ด้วย โดยสามารถใช้หมายเลขลำดับของใบเสร็จรับเงินต่อเนื่องกันไปกับหมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีอย่างย่อได้

                        (2) การขายสินค้าในแผนกที่มีเฉพาะสินค้าที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งหมด เช่น แผนกหนังสือ

                                 (ก) หากห้างสรรพสินค้าประสงค์จะออกใบเสร็จรับเงินด้วยมือ ห้างสรรพสินค้าก็สามารถออกใบเสร็จรับเงินซึ่งไม่มีข้อความว่า "ใบกำกับภาษี" หรือ "ใบกำกับภาษีอย่างย่อ" ได้ โดยใบเสร็จรับเงินดังกล่าวจะต้องมีรายการอย่างน้อยตามที่กำหนดไว้สำหรับใบรับตามมาตรา 105 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร

                                 (ข) หากห้างสรรพสินค้าประสงค์จะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินออกใบเสร็จรับเงิน เครื่องบันทึกการเก็บเงินดังกล่าวจะต้องมิใช่เครื่องบันทึกการเก็บเงินซึ่งได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ใช้สำหรับการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2536 โดยใบเสร็จรับเงินดังกล่าวจะต้องมีรายการอย่างน้อยตามที่กำหนดไว้สำหรับใบรับตามมาตรา 105 ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร

 

                ข้อ 2  คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2537 เป็นต้นไป

 

สั่ง ณ วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536

 

จัตุมงคล โสณกุล

อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022