พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 467)
พ.ศ. 2550
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2550
เป็นปีที่ 62 ในรัชกาลปัจจุบัน
----------------------------------
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทที่นำหลักทรัพย์มาจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 187 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 33 และมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 467) พ.ศ. 2550
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ตาม (ก) ของ (2) สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแห่งบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ตามมาตรา 4 และคงจัดเก็บในอัตราดังต่อไปนี้เป็นเวลาสามรอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกันนับแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่เริ่มในหรือหลังวันที่บริษัทที่นั้นมีหลักทรัพย์มาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(1) ร้อยละยี่สิบของกำไรสุทธิ สำหรับบริษัทที่นำหลักทรัพย์มาจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่าด้วยการรับหลักทรัพย์จดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ
(2) ร้อยละยี่สิบห้าของกำไรสุทธิ สำหรับบริษัทที่นำหลักทรัพย์มาจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นอกเหนือจากกรณีตาม (1)
มาตรา 4 บริษัทที่จะได้รับสิทธิในการลดอัตราภาษีเงินได้ตามมาตรา 3 จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
(1) ยื่นคำขอจดทะเบียนหลักทรัพย์กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551 และได้รับการจดทะเบียนหลักทรัพย์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 474) พ.ศ. 2551 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป)
(2) ไม่เคยมีหลักทรัพย์จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนการจดทะเบียนหลักทรัพย์กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(3) ไม่เป็นบริษัทที่ควบเข้ากันกับบริษัทที่เคยมีหลักทรัพย์จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือรับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนจากบริษัทดังกล่าว ทั้งนี้ ก่อนการจดทะเบียนหลักทรัพย์กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(4) ไม่รับโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนจากบริษัทที่เคยมีหลักทรัพย์จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลอดระยะเวลาที่บริษัทได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ หากมีการรับโอนกิจการดังกล่าว ให้ถือว่าบริษัทนั้นหมดสิทธิที่จะได้รับการลดอัตราภาษีเงินได้ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่มีการรับโอนกิจการ
(5) ไม่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 3(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 460) พ.ศ. 2549 ตลอดระยะเวลาที่บริษัทได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้
(6) ไม่เคยได้รับสิทธิลดอัตราภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 387) พ.ศ. 2544 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 421) พ.ศ. 2547
มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์
นายกรัฐมนตรี
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทที่นำหลักทรัพย์มาจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อจูงใจให้บริษัทนำหลักทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อันเป็นการเพิ่มทางเลือกในการระดมทุนเพื่อขยายกิจการ และส่งเสริมธรรมาภิบาลของบริษัท รวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในตลาดทุนซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจขยายตัว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 124 ตอนที่ 69 ก วันที่ 17 ตุลาคม 2550)