เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/9124
ลงวันที่: 10 กันยายน 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และอากรแสตมป์กรณีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิมและซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ        สำนักงานสรรพากรภาค แจ้งว่า นางสาวส.หารือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอากรแสตมป์ กรณีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิมและซื้ออสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยปรากฏข้อเท็จจริงดังนี้
        1. นางสาว ส.ได้กรรมสิทธิ์ห้องชุดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2545และได้ทำการขายห้องชุดดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2548ซึ่งห้องชุดดังกล่าวเป็นทรัพย์สินส่วนตัว โดยนางสาว ส. ได้จดทะเบียนสมรสกับนาย พ.เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2547
        2. ต่อมาเมื่อวันที่ 12 เมษายน2549 นาย พ. ได้ซื้อที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสและได้จดจำนองโดยขอกู้เงินจากธนาคารอาคารสงเคราะห์เพื่อปลูกสร้างบ้าน นาย พ. และนางสาวส.ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้เสียไปจากการถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายและอากรแสตมป์
แนววินิจฉัย        นางสาว ส. ได้กรรมสิทธิ์ห้องชุดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2545และได้ทำการขายห้องชุดดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2548 ต่อมาเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2549 นาย พ. สามีได้ซื้อที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้าง และได้จดจำนองโดยขอกู้เงินจากธนาคารอาคารสงเคราะห์เพื่อปลูกสร้างบ้านจึงไม่ใช่สัญญาซื้ออสังหาริมทรัพย์พร้อมที่ดินและเงินได้จากการขายห้องชุดของนางสาว ส.จึงไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแต่อย่างใดทั้งนี้ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (62) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรและไม่ได้รับยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับรายรับจากการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 6 (37) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2500 ดังนั้น นายพ. และนางสาว ส.จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ได้เสียไปจากการถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และอากรแสตมป์ได้
เลขตู้: 70/35285

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020