เมนูปิด

          บริษัท ก. จำกัด (บริษัทฯ) ประกอบกิจการโรงแรม และให้เช่าพื้นที่อาคารสรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้


          1. บริษัทฯ จะโอนกิจการทั้งหมดของบริษัทฯ ให้แก่บริษัท ข. (ผู้รับโอน) คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายกำหนดให้การโอนกิจการมีผลในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 (Closing Date) และผู้รับโอนจะดำเนินกิจการทั้งหมดที่ได้รับโอนต่อจากบริษัทฯ ตั้งแต่วันดังกล่าวเป็นต้นไป โดยบริษัทฯ จะดำเนินการแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีจดทะเบียนเลิกบริษัท ณ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และเริ่มชำระบัญชีภายในปีเดียวกัน


          2. บริษัทฯ มีสิทธิการเช่าที่ดินตามสัญญาเช่า และกรรมสิทธิ์ในอาคาร 2 หลัง ซึ่งบริษัทฯ ได้ก่อสร้างลงบนที่ดินดังกล่าว ในการโอนสิทธิการเช่าที่ดิน บริษัทฯจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดินเป็นลายลักษณ์อักษร จึงจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนกับกรมที่ดินได้ แต่เนื่องจากเจ้าของที่ดินเป็นหญิงชราอายุ 93 ปี มีอาการป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ซึ่งแพทย์ลงความเห็นว่าเจ้าของที่ดินไม่สามารถทำนิติกรรมใด ๆ รวมทั้งการอนุญาตให้บริษัทฯ จดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าที่ดิน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเจ้าของที่ดินร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าของที่ดินเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และแต่งตั้งผู้พิทักษ์ เพื่อกระทำการแทนในการอนุญาตให้บริษัทฯโอนสิทธิการเช่าให้แก่ผู้รับโอน ด้วยเหตุดังกล่าว บริษัทฯ จึงไม่สามารถจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าที่ดินและกรรมสิทธิ์ในตัวอาคารได้ทันในวัน Closing Date เนื่องจากกระบวนการพิจารณาของศาลจะแล้วเสร็จภายในปี 2551ซึ่งเป็นคนละรอบระยะเวลาบัญชีกับปีที่มีการโอนกิจการทั้งหมดของบริษัทฯ


          3. บริษัทฯ ขอหารือข้อกฎหมายภาษีอากร ดังต่อไปนี้


              3.1 เนื่องจากการจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าที่ดินและกรรมสิทธิ์ในอาคารเป็นเพียงการจัดการทางทะเบียนเท่านั้น ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ และผู้รับโอนตกลงโอนกิจการทั้งหมด โดยบริษัทฯ จดทะเบียนเลิกบริษัทในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการดังกล่าว จึงเข้าลักษณะเป็นการโอนกิจการทั้งหมด ตามาตรา 74(1)(ค)แห่งประมวลรัษฎากร และไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ถูกต้องหรือไม่


              3.2 หากบริษัทฯ มีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายหรือภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรมสรรพากร และบริษัทฯ ไม่สามารถโอนสิทธิในการขอคืนภาษีดังกล่าวให้กับผู้รับโอนเนื่องจากสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิเฉพาะตัว การที่บริษัทฯ ไม่สามารถโอนสิทธิดังกล่าวให้กับผู้รับโอนได้ จะทำให้บริษัทฯ เสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามตามมาตรา 74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องหรือไม่


              4. เนื่องจากบริษัทฯ และผู้รับโอนมีความจำเป็นต้องใช้ราคาทางบัญชีของทรัพย์สินหักด้วยค่าเสื่อมราคา (Book Value) ที่ปรากฏในงบการเงินของผู้โอน ณ เวลา 00.00 นาฬิกา ของวัน Closing Date ซึ่งเป็นเพียงงบทดลองไปก่อน เพราะต้องใช้เวลาประมาณ 45 วัน ในการปิดงบการเงินเมื่อคู่สัญญาปรับปรุงราคาทรัพย์สินสุทธิภายหลังจากที่ปิดงบเสร็จสิ้น โดยหาก ราคาทรัพย์สินสุทธิที่ใช้ในการชำระเงินในวัน Closing Date ต่ำกว่า Book Value ของงบที่แล้วเสร็จ บริษัทฯ จะได้รับชำระ ส่วนต่างเพิ่มเติมจากผู้รับโอน และหากราคาทรัพย์สินสุทธิในวัน Closing Date สูงกว่า Book Value ของงบที่แล้วเสร็จ บริษัทฯ จะต้องจ่ายคืนส่วนต่างให้กับผู้รับโอน นั้น กรณีดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ทางภาษี ตามมาตรา 74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวข้องหรือไม่

          1. แม้ว่าบริษัทฯ จะไม่สามารถจดทะเบียนโอนสิทธิการเช่าที่ดินและกรรมสิทธิ์ในอาคารให้กับผู้รับโอนได้ทันในวัน Closing Date เนื่องจากต้องรอกระบวนการที่ขอให้ศาลสั่งให้เจ้าของที่ดินเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และแต่งตั้งผู้พิทักษ์ และบริษัทฯ จะไม่สามารถโอนสิทธิขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายหรือภาษีมูลค่าเพิ่มจากกรมสรรพากรให้กับผู้รับโอนได้ เนื่องจากเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้โอนก็ตาม หากการโอนกิจการระหว่างบริษัทฯ กับผู้รับโอนเป็นการโอนกิจการทั้งหมด โดยบริษัทฯ จะเลิกประกอบกิจการและทำการชำระบัญชีเพื่อจดทะเบียนเลิกบริษัท ณกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการ นั้น บริษัทฯ ย่อมได้รับสิทธิประโยชน์ในทางภาษีอากรดังนี้


              1.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล


              บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องตีราคาทรัพย์สินตามราคาตลาดในวันที่จดทะเบียนเลิก แต่ไม่ให้ถือราคาดังกล่าวเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทฯ และให้ผู้โอนถือเอาราคาทรัพย์สินนั้นตามราคาที่ปรากฏในบัญชี เพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิจนกว่าจะได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไป ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร


              1.2 ภาษีมูลค่าเพิ่ม


              การโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันระหว่างบริษัทฯ กับผู้รับโอนซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่ถือเป็นการขาย ตามบทนิยามของคำว่า "ขาย" ในมาตรา 77/1(8)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการโอนกิจการดังกล่าวแต่อย่างใด


              1.3 ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์


              การโอนอสังหาริมทรัพย์อันเนื่องมาจากการโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ตามมาตรา 5 โสฬส และมาตรา 6(31) แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500


          2. กรณีที่ในวัน Closing Date บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องใช้ราคาที่ปรากฏในบัญชีตามงบทดลองไปก่อน เนื่องจากต้องใช้เวลาประมาณ 45 วัน ในการปิดงบการเงิน นั้น หากต่อมาบริษัทฯ และผู้รับโอนทำการปรับปรุงราคาทรัพย์สินสุทธิตามงบการเงินที่เสร็จสิ้น การปรับปรุงดังกล่าว ไม่มีผลกระทบต่อภาระภาษีข้างต้นแต่ประการใด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/พ./9849
วันที่: 27 กันยายน 2550
เรื่อง: ภาษีอากร กรณีการโอนกิจการทั้งหมด ตามมาตรา 74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อกฎหมาย: มาตรา 74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ
แนววินิจฉัย
เลขตู้: 70/35342

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020