เลขที่หนังสือ | : กค 0706/10272 |
วันที่ | : 11 ตุลาคม 2550 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการจ่ายค่าเช่าให้โรงเรียนเอกชน |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 40(5)(ก) มาตรา 42(17) มาตรา 50(4) มาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509)ฯ |
ข้อหารือ | |
นาย ก. เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยฯได้มีการจัดโครงสร้างระบบการเรียนการสอนเพื่อรองรับปริมาณนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีโดยวิธีการเช่าพื้นที่โรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เพื่อให้นักศึกษาได้เดินทางสะดวกและใกล้ที่อยู่อาศัยซึ่งระบบการเรียนการสอนเป็นไปตามหลักสูตรของทบวงมหาวิทยาลัยทุกประการ มหาวิทยาลัยฯ จะทำสัญญาเช่ากับโรงเรียนเอกชน ดังนี้
1. ผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าใช้พื้นที่ในการจัดการเรียนการสอนพร้อมอุปกรณ์พื้นฐานในการจัดการเรียนการสอน สำหรับ ค่าใช้จ่ายพื้นที่ ค่าสาธารณูปโภค และค่าบริการอื่นๆ เป็นเงิน 1,200 บาท ต่อนักศึกษาหนึ่งคนต่อหนึ่งภาคการเรียน
2. การนับจำนวนนักศึกษาเพื่อใช้ในการคำนวณพื้นที่ ให้คำนวณจากการชำระเงินค่าลงทะเบียนของนักศึกษาใน ภาคเรียนที่ 1 เป็นเกณฑ์ จนกระทั่งสิ้นสุดการเรียนการสอนในแต่ละปีการศึกษาและหากมีการเพิ่มจำนวนนักศึกษาผู้เช่าจะต้องชำระเงินค่าเช่าตามข้อ 1 เพิ่มตามจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มภายหลังให้ผู้ให้เช่า
3. ผู้เช่าตกลงชำระค่าเช่าตามอัตราที่กำหนดไว้ในข้อ 1 ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่นักศึกษาได้ชำระค่าลงทะเบียนแล้ว
นาย ก. จึงขอทราบว่า มหาวิทยาลัยฯ จ่ายค่าเช่าให้โรงเรียนเอกชน ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างไร
แนววินิจฉัย | |
ตามมาตรา 3(1) และมาตรา 123 แห่งพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2497 และบัญญัติว่า "ให้โรงเรียนราษฎร์ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนราษฎร์เป็นโรงเรียนเอกชนตามพระราชบัญญัตินี้..." ตามลำดับกรณีจึงให้เงินได้จากกิจการของโรงเรียนราษฎร์ซึ่งตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนราษฎร์ ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ แต่เงินได้ดังกล่าวไม่รวมถึงเงินได้จากการขายของ การรับจ้างทำของหรือการให้บริการอื่นใดที่โรงเรียนราษฎร์ซึ่งเป็นโรงเรียนอาชีวศึกษาได้รับจากผู้ซึ่งมิใช่นักเรียน
ทั้งนี้ ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ดังนั้น เงินได้จากค่าเช่าที่ได้รับจากมหาวิทยาลัยฯ จึงไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ และเงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร มหาวิทยาลัยฯ ผู้จ่ายเงินได้ในกรณีนี้ให้กับผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 ของยอดเงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้แก่ผู้รับรายหนึ่งๆ มีจำนวนรวมทั้งสิ้นตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป แม้การจ่ายนั้นจะได้แบ่งจ่ายครั้งหนึ่งๆ ไม่ถึง10,000 บาท ก็ดี และจ่ายให้กับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มหาวิทยาลัยฯมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยคำนวณหักไว้ในอัตราร้อยละ 1.0 สำหรับเงินที่จ่ายครั้งหนึ่งๆ ตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไปทั้งนี้ ตามมาตรา 50(4) และมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้ | : 70/35368 |