เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/9090
ลงวันที่: 7 กันยายน 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีการให้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมและการขายอสังหาริมทรัพย์
ข้อกฎหมาย: มาตรา 49 ทวิ และมาตรา 48(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ        กรณีการคำนวณภาษีและการนับจำนวนปีที่ถือครองของการให้ถือกรรมสิทธิ์รวมและการขายอสังหาริมทรัพย์
        ซึ่งสรุปข้อเท็จจริง ดังนี้
        1. นาย ป. เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดจังหวัดนนทบุรี นาย ป. เสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2538
        2. เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2542ได้มีการโอนที่ดินทั้ง 3 แปลงตามคำสั่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ตามคดีหมายเลขแดง ลงวันที่ 7กรกฎาคม 2538 ให้แก่ นางสาว ก. และ นาย อ. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนาย ป.
        3. เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2547นางสาว ก. และนาย อ. ในฐานะผู้จัดการมรดก ได้โอนที่ดินมรดกทั้ง 3 แปลงให้ นางสาว ก. นายอ. นาย ส. และนางสาว ท. เข้าถือกรรมสิทธิ์รวม และต่อมาได้มีการทำนิติกรรมกับที่ดินทั้ง 3 แปลง ดังนี้
            3.1ที่ดินได้โอนขายให้บริษัท ธ. (บริษัท ธ.) ซึ่งมี นางสาว ก. และนาย อ. เป็นกรรมการ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2548 ในราคา 12,000,000 บาท
            3.2ที่ดินได้จดทะเบียนให้บริษัท ธ. เข้าถือกรรมสิทธิ์รวม ดังนี้
                (1)ในวันที่ 4 เมษายน 2548 ถือกรรมสิทธิ์รวม 1 ส่วนใน 4 ส่วน
                (2)ในวันที่ 7 เมษายน 2548 ถือกรรมสิทธิ์รวม 1 ส่วนใน 3 ส่วน
                (3)ในวันที่ 11 เมษายน 2548 ถือกรรมสิทธิ์รวม 1 ส่วนใน 2 ส่วน
            3.3ที่ดินโฉนดเลขที่ 126426 ได้จดทะเบียนให้บริษัท ธ. ถือกรรมสิทธิ์รวม ดังนี้
                (1)ในวันที่ 4 เมษายน 2548 ถือกรรมสิทธิ์รวม 1 ส่วนใน 4 ส่วน
                (2)ในวันที่ 7 เมษายน 2548 ถือกรรมสิทธิ์รวม 1 ส่วนใน 3 ส่วน
                (3)ในวันที่ 11 เมษายน 2548 ถือกรรมสิทธิ์รวม 1 ส่วนใน 2 ส่วน
        4. เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2548ได้ทำสัญญาขายที่ดินเฉพาะส่วนรวม รวม 2 โฉนดให้แก่บริษัท ธ. เป็นเงิน 16,500,000 บาท่
แนววินิจฉัย        1. ที่ดินทั้ง 3 แปลงของนาย ป.บิดา ซึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2538ได้ตกเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททั้ง 4 คนทันที นับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งนี้ ตามมาตรา 1299 และมาตรา 1599 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และที่ดินมรดกทั้ง3แปลงดังกล่าวเป็นที่ดินที่ยังไม่ได้แบ่งกรรมสิทธิ์ว่า ผู้ใดมีกรรมสิทธิ์อยู่ตรงบริเวณใด ดังนั้น ทายาททั้ง 4คนจึงมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกร่วมกัน เมื่อทายาทได้นำที่ดินมรดกไปให้บริษัท ธ. ถือกรรมสิทธิ์รวมตามส่วนของตนโดยมีค่าตอบแทนและขายที่ดินมรดกให้แก่ บริษัท ธ.ทั้ง 2 กรณี ถือเป็นการขาย ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร
        2.เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง ตามมาตรา 50 (5)(ก)แห่งประมวลรัษฎากรกำหนดว่า ทุกคราวที่มีการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นเงินภาษีทั้งสิ้นเท่าใดให้หักเป็นเงินภาษีไว้เท่านั้นโดยคำนวณหักค่าใช้จ่ายร้อยละ 50 ของราคาที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดโดยถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนตามมาตรา49 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เหลือเท่าใดถือเป็นเงินได้สุทธิแล้วหารด้วยจำนวนปีที่ถือครอง โดยเริ่มนับแต่วันที่เจ้ามรดกตายจนถึงวันที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ได้ผลลัพธ์เป็นเงินเท่าใดให้คำนวณตามอัตราภาษีเงินได้ได้เท่าใดให้คูณด้วย จำนวนปีที่ถือครอง ผลลัพธ์ที่ได้เป็นเงินภาษีที่ต้องเสียและถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 48(4)(ก)แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น การหักภาษี ณ ที่จ่าย จึงต้องคำนวณภาษีจากฐานของราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าจดทะเบียนสิทธิ์และนิติกรรมในแต่ละครั้งที่มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองมิใช่คำนวณภาษีจากฐานรายรับรวมทั้งโฉนดแต่อย่างใด
เลขตู้: 70/35278

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020