เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/9199
ลงวันที่: 12 กันยายน 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีพนักงานได้รับจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้น
ข้อกฎหมาย: มาตรา 40(1) และมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ        บริษัทฯหารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีบริษัทฯมีโครงการจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นให้แก่พนักงานสรุปข้อเท็จจริงได้ ดังนี้
        1. บริษัทฯมีความประสงค์จะทำการจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯให้กับพนักงานของบริษัทฯหรือพนักงานของบริษัทย่อยเพื่อเพิ่มแรงจูงใจและรักษาไว้ซึ่งพนักงานในระยะยาวโดยพนักงานจะได้รับการจัดสรรตามความเหมาะสม ซึ่งพิจารณาจากตำแหน่งหน้าที่งานความรับผิดชอบ อายุงานประสบการณ์ และผลประโยชน์ที่จะนำมาสู่บริษัทฯ
        2. ใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวไม่มีการเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป และมีอายุ 3 ปีโดยมีอัตราการใช้สิทธิ 1 หน่วยต่อ 1หุ้นสามัญ ราคาการใช้สิทธิ 1 บาทต่อหุ้น ไม่มีราคาเสนอขายและเป็นใบสำคัญแสดงสิทธิที่สามารถระบุชื่อและเปลี่ยนมือได้
        3. เมื่อบริษัทฯจัดสรรสิทธิในการซื้อหุ้นเสร็จสิ้น บริษัทฯจะดำเนินการออกใบสำคัญแสดงสิทธิให้แก่พนักงานโดยกรรมสิทธิ์ในใบสำคัญแสดงสิทธิจะโอนเป็นของพนักงานในทันทีที่บริษัทฯส่งมอบใบสำคัญแสดงสิทธิให้แก่พนักงานแต่มีเงื่อนไขว่าพนักงานแต่ละราย จะสามารถใช้สิทธิซื้อหุ้นของบริษัทฯได้ตามอัตราร้อยละที่กำหนดในแต่ละปี
        หลังจากนั้น บริษัทฯจะดำเนินการจดทะเบียนใบสำคัญแสดงสิทธิที่ออกเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและหากพนักงานที่ได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิรายใดมีความจำเป็นทางด้านการเงินหรือประสงค์จะลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาใบสำคัญแสดงสิทธิหรือราคาหุ้นของบริษัทฯพนักงานก็อาจเลือกขายใบสำคัญแสดงสิทธิในตลาดหลักทรัพย์ได้ทั้งนี้วันที่ใบสำคัญแสดงสิทธิจะเข้าซื้อขายในฐานะ "หลักทรัพย์จดทะเบียน"จะขึ้นอยู่กับวันที่ตลาดหลักทรัพย์อนุมัติ ซึ่งจะเกิดขึ้นภายหลังจากวันที่บริษัทฯจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิเสร็จสิ้นแล้ว
        อนึ่ง ในปัจจุบัน บริษัทฯมีใบสำคัญแสดงสิทธิที่เสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนทั่วไปและเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่แล้วโดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 0.91 บาท ณวันที่ 1 มิถุนายน 2550
        4. บริษัทฯ ได้หารือว่า
            4.1ในกรณีที่บริษัทฯโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบใบสำคัญแสดงสิทธิให้แก่พนักงานนั้นเนื่องจากใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวไม่มีการเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไปและยังไม่อาจหาราคาตลาดได้ดังนั้น บริษัทฯจะใช้ราคาเฉลี่ยของใบสำคัญแสดงสิทธิที่บริษัทฯออกขายให้ผู้ถือหุ้นและเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนอยู่แล้วในวันที่โอนกรรมสิทธิ์เป็นราคาของใบสำคัญแสดงสิทธิของพนักงาน โดยถือว่าราคาดังกล่าวเป็นเงินได้ของพนักงานที่ต้องนำมารวมเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา50(1) แห่งประมวลรัษฎากรถูกต้องหรือไม่
            4.2ในกรณีที่พนักงานขายใบสำคัญแสดงสิทธิในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเงินได้จากการขายใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42(17)แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ2(23) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ถูกต้องหรือไม่
            4.3ในกรณีที่พนักงานใช้สิทธิตามใบสำคัญแสดงสิทธิเพื่อแลกเป็นหุ้นสามัญบริษัทฯจะต้องคำนวณเงินได้ของพนักงาน โดยใช้ราคาเฉลี่ยของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้นหักด้วยราคาการใช้สิทธิ(1 บาทต่อหน่วย) และราคาใบสำคัญแสดงสิทธิ (เช่น 0.91 บาทหากพนักงานได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิในวันที่ 1 มิถุนายน 2550)ตามนัยคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 28/2538 เรื่องภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากรณีการเสียภาษีในกรณีได้รับแจกหุ้นหรือได้ซื้อหุ้นในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดตามข้อตกลงพิเศษลงวันที่ 7กุมภาพันธ์ 2538 ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย        1.กรณีใบสำคัญแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นของพนักงานนั้น สามารถโอนเปลี่ยนมือได้และโดยที่บริษัทฯมีใบสำคัญแสดงสิทธิที่ขายให้กับผู้ถือหุ้นและเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้วดังนั้นกรณีที่บริษัทฯ จัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิให้แก่พนักงานจึงถือได้ว่าในวันที่พนักงานได้รับกรรมสิทธิ์ในใบสำคัญแสดงสิทธิพนักงานได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากรโดยให้ใช้ราคาเฉลี่ยของใบสำคัญแสดงสิทธิที่เป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์ (เช่น 0.91 บาทหากพนักงานได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิในวันที่ 1 มิถุนายน 2550) เป็นเงินได้ของพนักงานดังกล่าว และบริษัทฯมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร
        2.กรณีที่พนักงานขายใบสำคัญแสดงสิทธิในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายหลังจากที่บริษัทฯจดทะเบียนใบสำคัญแสดงสิทธิเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนแล้วเงินได้จากการขายใบสำคัญแสดงสิทธิดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(23) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509
        3.ในกรณีที่พนักงานนำใบสำคัญแสดงสิทธิมาใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญของบริษัทฯในราคาต่ำกว่าราคาตลาดถือว่าพนักงานได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากรจากบริษัทฯโดยจำนวนเงินได้พึงประเมินนั้น ให้ใช้ราคาเฉลี่ยของหุ้นสามัญในตลาดหลักทรัพย์ในเดือนที่ใช้สิทธิหักด้วยราคาการใช้สิทธิ (1บาทต่อหน่วย) และราคาใบสำคัญแสดงสิทธิ (เช่น 0.91 บาท หากพนักงานได้รับใบสำคัญแสดงสิทธิในวันที่ 1 มิถุนายน 2550) ทั้งนี้ ตามนัยคำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 28/2538ฯ ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538
เลขตู้: 70/35297

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020