เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/9461
ลงวันที่: 20 กันยายน 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากการขายที่ดิน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 48(4)(ก) และมาตรา 52 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ        การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณที่จ่ายบุคคลธรรมดากรณีการขายที่ดินที่ได้รับมาโดยทางมรดก โดยมีข้อเท็จจริง สรุปได้ดังนี้
        1. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542นางสาว ก. และผู้จัดการมรดกรวม 3คนได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินมรดกจำนวน 3 แปลงของนาย ป.
        2. วันที่ 19 สิงหาคม 2547 นางสาวก.และผู้จัดการมรดกได้ทำการจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกจำนวน 3 แปลงให้แก่นางสาว ก. นาย ส.และนางสาว ท.โดยไม่ได้แบ่งแยกการถือครองเป็นสัดส่วน
        3. ต่อมาบุคคลทั้ง 4ได้ขายที่ดินมรดกทั้ง 3 แปลงให้แก่บริษัท ธ. โดยมีรายละเอียดดังนี้
            3.1โฉนดเลขที่ ... ได้ขายให้บริษัท ธ. ทั้งแปลง
            3.2โฉนดเลขที่ ... ได้ขายโดยให้บริษัทธ.ถือครองอย่างกรรมสิทธิ์รวมในเบื้องต้นแล้วจึงค่อยทยอยดำเนินการจดทะเบียนโอนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทธ. ทีละส่วนจำนวน 4 ส่วนและมีการชำระราคาที่ดินตามส่วนที่ได้ทำการโอน
            3.3โฉนดเลขที่ ... ดำเนินการโอนขายเช่นเดียวกับที่โฉนดเลขที่ ... ตาม 3.2
        4. การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณที่จ่ายในการขายที่ดินทุกแปลงนั้นสำนักงานที่ดินได้คำนวณหักตามส่วนของมูลค่าที่ดินที่ได้ทำการโอนในแต่ละครั้งแยกกันโดยที่ดินตาม 3.2 และ 3.3จะมีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทั้งหมด 4 ครั้ง
        จึงขอทราบว่า
        1.จำนวนปีถือครองที่ดินของบุคคลทั้ง 4 จะเริ่มนับและสิ้นสุดลงเมื่อใด
        2. วิธีการคำนวณภาษีเงินได้หักณที่จ่ายที่สำนักงานที่ดินคำนวณเมื่อมีการโอนที่ดินทีละส่วนในที่ดินตาม 3.2 และ 3.3ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย        1.การนับจำนวนปีถือครองที่ดินเพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48(4) (ก) แห่งประมวลรัษฎากรให้เริ่มนับระยะเวลาตั้งแต่ปีที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์จนถึงปีที่ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นกรณีการได้มาโดยทางมรดกถือว่าที่ดินตกเป็นกรรมสิทธิ์ของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกทันทีที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายตามมาตรา1599 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์การนับจำนวนปีถือครองที่ดินจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่ปีที่นายป. เจ้ามรดกถึงแก่ความตายจนถึงปีที่ทายาทได้จดทะเบียนโอนที่ดินมรดกส่วนกรณีที่มีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกอยู่หลายคนและได้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อเฉพาะทายาทเพียงบางคนลงในโฉนดที่ดินหรือกรณีที่มีการตั้งผู้จัดการมรดกและได้มีการจดทะเบียนใส่ชื่อผู้จัดการมรดกก่อนหากมิได้มีการแสดงเจตนาในการจดทะเบียนไว้เป็นอย่างอื่นกรณีถือว่าทายาทหรือผู้จัดการมรดกผู้ที่มีชื่ออยู่ในโฉนดที่ดินเป็นเพียงผู้ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนทายาทอื่นเท่านั้นหามีผลกระทบต่อกรรมสิทธิ์ของทายาทอื่นแต่อย่างใดไม่
        2. การทยอยขายที่ดินโฉนดเลขที่298 และเลขที่ 1611 ตาม 3.2 และ 3.3 ให้แก่บริษัทธ.โดยเริ่มจากการจดทะเบียนใส่ชื่อบริษัท ธ. ลงในโฉนดที่ดินร่วมกับทายาทก่อนในตอนแรกถือว่า บริษัท ธ.มีฐานะเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์รวมกับทายาทและถือว่ามีการโอนการครอบครองตามส่วนที่ได้ตกลงกันระหว่างคู่สัญญาแล้วหรือหากยังไม่มีการตกลงแบ่งส่วนที่ชัดเจนก็ต้องสันนิษฐานว่าเจ้าของรวมต่างมีส่วนเท่ากัน ตามมาตรา 1357 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนี้การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายจากการขายที่ดินและการนำส่งต่อเจ้าพนักงาน ตามมาตรา52แห่งประมวลรัษฎากรจึงต้องกระทำทุกครั้งที่ได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้บริษัทธ.เริ่มตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้จดทะเบียนให้บริษัท ธ.เข้าถือกรรมสิทธิ์รวมโดยให้คำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายของมูลค่าที่ดินตามส่วนที่ให้บริษัทธ.ถือครองตามส่วนมูลค่าที่ดินของทายาทแต่ละคนที่ได้รับจากการขาย
เลขตู้: 70/35333

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020