เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/9434
ลงวันที่: 18 กันยายน 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ        นาย ก. ขอความเป็นธรรมในการยื่นแบบภ.ง.ด. 91 ปีภาษี 2549 กรณีพนักงาน ข.ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 สำหรับปีภาษี 2549 ขอคืนภาษีจำนวนทั้งสิ้น 115 รายเนื่องจากมีเงินได้ประเภทเงินเดือนและเงินได้ที่ลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ค. ผู้มีเงินได้ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91โดยนำเงินได้ที่ลาออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มาคำนวณตามใบแนบกรณีคำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานที่เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นๆ
แนววินิจฉัย        1. เงินหรือผลประโยชน์ใดๆที่พนักงานได้รับจากกองทุนฯ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกอบกับข้อ 30ของข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน ข. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว พ.ศ.2548เฉพาะกรณีเมื่อพนักงานออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตายจึงจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ 2(36)แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509)ฯ และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 52)ฯ ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538
        2. กรณีพนักงานลาออกจากกองทุนฯแต่ไม่ได้ลาออกจากงานยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามปกติต่อไปไม่เข้าลักษณะพนักงานลาออกจากงานตามข้อ 9.4 และข้อ 9.5ของข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ และข้อ 8(2)ของข้อบังคับ ว่าด้วยการแต่งตั้ง ถอดถอนเลื่อนและลดขั้นเงินเดือน และกำหนดอัตราเงินเดือน พนักงาน ข. พ.ศ. 2498ดังนั้นเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่พนักงานได้รับจากกองทุนฯ เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน การท่าเรือฯผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทั้งนี้ ตามมาตรา 40(1) และมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากรและเนื่องจากเงินได้ดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานจึงไม่มีสิทธิ์นำเงินที่ได้รับจากกองทุนฯมาเลือกเสียภาษีตามมาตรา48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535พนักงานต้องนำเงินที่ได้รับไปรวมกับเงินเดือนตามปกติแล้วนำไปรวมคำนวณภาษีในแบบ ภ.ง.ด.91
เลขตู้: 70/35326

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020