เลขที่หนังสือ | : กค 0706(กม.02)/3279 |
วันที่ | : 31 ตุลาคม 2550 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการคำนวณภาษีเงินได้สำหรับกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 18 และมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | บริษัท ม. ได้รับหมายเรียกตรวจสอบสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 - 31 มีนาคม 2543 และรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2543 - 31 มีนาคม 2544 จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) เพิ่มเติมสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2529 - 30 กันยายน 2530 ถึงรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2543 - 31 มีนาคม 2544 รวม 15 รอบระยะเวลาบัญชีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 โดยปรับปรุงรายรับและรายจ่ายที่ได้รับยกเว้นและไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและคำนวณภาษีโดยใช้ผลขาดทุนประจำปีเป็นรายบัตรส่งเสริมการลงทุนตามสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรา 31 และมาตรา 36(4) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 ทำให้บริษัทฯ มีผลขาดทุนประจำปีเพิ่มขึ้นและได้นำผลขาดทุนสะสมยกไปใช้คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีถัดไปจำนวนมาก
|
จึงหารือว่า
1.1 บริษัทฯ ประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนและไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจะคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยใช้ผลขาดทุนประจำปีเป็นรายบัตรส่งเสริมการลงทุนได้หรือไม่
1.2 บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 เพิ่มเติมทำให้มีผลขาดทุนเพิ่มขึ้น และนำผลขาดทุนสะสมยกไปใช้คำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล กรมสรรพากรต้องยอมรับผลขาดทุนตามแบบ ภ.ง.ด. 50 ฉบับเพิ่มเติมหรือไม่
1.3 การยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 เพิ่มเติมมีกำหนดอายุความหรือไม่ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออก หมายเรียกเพื่อตรวจสอบไต่สวนข้อเท็จจริงรายการที่แสดงไว้ในแบบ ภ.ง.ด.50 ฉบับเพิ่มเติมสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2529 - 30 กันยายน 2530 ถึงรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2541- 31 มีนาคม 2542 ได้หรือไม่
1.4 กรณีไม่อาจออกหมายเรียกตามข้อ 1.3 ได้ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจ ตรวจสอบการใช้สิทธิและประโยชน์ตามบัตรส่งเสริมการลงทุนว่าเป็นไปตามเงื่อนไขของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนและประกาศกรมสรรพากร เรื่อง การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530 ได้หรือไม่ และถ้าการตรวจสอบมีผลทำให้กำไรหรือขาดทุนของกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีและไม่ได้รับยกเว้นภาษีเพิ่มขึ้นหรือผลขาดทุนประจำปีและผลขาดทุนสะสมยกไปลดลงเจ้าพนักงานประเมิน จะใช้อำนาจตามมาตรา 18 แห่งประมวลรัษฎากรแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือแจ้งการเปลี่ยนแปลงลดผลขาดทุนประจำปี และผลขาดทุนสะสมยกไปได้หรือไม่ ถ้ากระทำได้อายุความกรณีดังกล่าวมีกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 ฉบับเพิ่มเติมใช่หรือไม่ ถ้าไม่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 18 แห่งประมวลรัษฎากรได้จะต้องใช้อำนาจตามมาตราใดในการแจ้งประเมินหรือแจ้งเปลี่ยนแปลงผลขาดทุนประจำปีและผลขาดทุนสะสมยกไป
1.5 กรณีมีกำหนดเวลาในการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 เพิ่มเติม รอบระยะเวลาบัญชีใดบ้างที่ขาดอายุความ และหากขาดอายุความแล้วย่อมไม่มีผลทางกฎหมาย จึงต้องใช้แบบ ภ.ง.ด. 50 ฉบับปกติในการคำนวณผลขาดทุนสะสมยกไปถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย | 1. กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนโดยได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมากกว่า 1 โครงการ บริษัทฯ มีสิทธินำผลขาดทุนประจำปีที่เกิดขึ้นของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นภายหลังระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 31 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 และตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษี อากรที่ 35/2540 เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีการนำผลขาดทุนของกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนไปหักภายหลังระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ลงวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2540 นั้นโดยให้นำผลขาดทุนในระหว่างเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมาหักกลบกับกำไรที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของทุกโครงการที่อยู่ในรอบ ระยะเวลาบัญชีเดียวกันก่อนเพื่อให้ได้ผลขาดทุนประจำปีแล้วจึงนำผลขาดทุนประจำปีดังกล่าวไปหักออกจากกำไรสุทธิที่เกิดขึ้น ภายหลังระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
|
2. กรณีการตรวจสอบภาษีกรณียื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกมาตรวจสอบภาษีอากร ตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากรส่วนการนับอายุความในการออกหมายเรียก หากเจ้าหน้าที่ได้ออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษีอากรบริษัทฯ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2542 - 31 มีนาคม 2543 และรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2543 - 31 มีนาคม 2544 ตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ปรากฏว่า บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 เพิ่มเติมรวม 15 รอบระยะเวลาบัญชีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548 นั้น เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจตรวจสอบและประเมินภาษีภายใน 10 ปี นับแต่วันพ้นกำหนดยื่นแบบแสดงรายการ ส่วนการประเมินภาษีตามมาตรา 18 แห่งประมวลรัษฎากรจะต้องประเมินจากแบบแสดงรายการที่ยื่นไว้ผิดพลาด ซึ่งสามารถตรวจได้จากแบบแสดงรายการเท่านั้นจะนำข้อเท็จจริงนอกเหนือจากแบบแสดงรายการมาประกอบการพิจารณาไม่ได้
เลขตู้ | : 70/35412 |