เลขที่หนังสือ | : กค 0706/11577 |
วันที่ | : 19 พฤศจิกายน 2550 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการหักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินและรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 65 ตรี (5)(13) และมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | บริษัท ท. ประกอบกิจการเป็นตัวแทนโฆษณาและรับจ้างผลิตงานโฆษณาได้ทำสัญญาเช่าอาคารจากบริษัท น. ตามหนังสือสัญญาเช่าฉบับลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2547 มีกำหนดระยะเวลาเช่า 6 ปี นับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2547 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 โดยมีสิทธิต่อสัญญาเช่าได้อีก 3 ปี ซึ่งบริษัทฯ ต้องทำสัญญาเช่าใหม่โดยไม่มีค่าสิทธิการเช่า บริษัทฯ ได้ทำการต่อเติมปรับปรุงอาคารเช่าดังกล่าว มีค่าใช้จ่ายออกแบบตกแต่งภายในค่าก่อสร้างงานปรับปรุงภายใน ปูพื้น กั้นห้อง ทำผนัง เพดาน ประตู รวมถึง Built-in furniture งานระบบไฟฟ้างานระบบปรับอากาศและระบายอากาศ งานระบบป้องกันเพลิง งานระบบสุขาภิบาล และงานวางท่อโทรศัพท์ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 25,194,326 บาทในปี 2548 และเป็นเงินทั้งสิ้น 136,683 บาทในปี 2549 ตามสัญญาฉบับดังกล่าวเมื่อครบกำหนดระยะเวลาการเช่าบริษัทฯ ต้องส่งมอบพื้นที่เช่าทรัพย์สินส่วนควบอาคารรวมทั้งส่วนประกอบอาคารทั้งเก่าและใหม่ในสภาพที่ดีให้แก่ผู้ให้เช่า |
แนววินิจฉัย | 1. กรณีตาม 1. ค่าต่อเติมและปรับปรุงอาคารเช่า เป็นการทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ก่อให้เกิดประโยชน์เกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชีต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่มีสิทธินำไปหักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4(5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 เมื่อบริษัทฯ ได้ต่อเติมและปรับปรุงอาคารเช่าโดยมิได้มีการรื้อของเดิมทิ้ง บริษัทฯ จะนำค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินส่วนที่ยังตัดไม่หมดไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทั้งจำนวนไม่ได้ต้องหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต่อไปจนหมด เว้นแต่บริษัทฯ ได้มีการรื้อหรือทำลายทรัพย์สินนั้น บริษัทฯ จึงมีสิทธิตัดต้นทุนที่เหลืออยู่เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทั้งจำนวนในปีที่มีการรื้อหรือทำลายได้ |
เลขตู้ | : 70/35458 |