เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/11976
วันที่: 3 ธันวาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการส่งออกผักและผลไม้
ข้อกฎหมาย: มาตรา 77/1(8)(9) มาตรา 80/1(1) มาตรา 81(1)(ก) มาตรา 105 มาตรา 105 ทวิ และ มาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. การส่งออกผักและผลไม้ ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
          2. กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซื้อผักและผลไม้จากผู้ขายในตลาดค้าส่ง โดยไม่มีใบรับ รายจ่าย ดังกล่าวเป็นรายจ่ายซึ่งพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ ตามมาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจะปฏิบัติดังต่อไปนี้ได้หรือไม่
               2.1. ผู้ซื้อจัดทำใบรับเงินให้ผู้ขายลงชื่อรับเงินเดือนละครั้งพร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ของผู้รับเงิน
               2.2. กรณีผู้รับเงินไม่ให้ความร่วมมือ จะให้พนักงานออกไปซื้อและทำรายละเอียดการซื้อแนบและ ให้พนักงานเป็นคนลงชื่อรับเงินในใบรับพร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของพนักงาน
               2.3. กรณีไม่สามารถทำตามข้อ 2.1 และข้อ 2.2 สามารถตั้งคณะบุคคลขึ้นมาเพื่อรับภาระค่าซื้อผัก และผลไม้ได้หรือไม่
แนววินิจฉัย          1. กรณีการขายผักสดและผลไม้ที่อยู่ในสภาพสดหรือรักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเป็นการชั่วคราวในระหว่างขนส่ง เข้าลักษณะเป็นการขายสินค้าพืชผลทางการเกษตรผู้ประกอบการขายสินค้าดังกล่าวในประเทศได้รับสิทธิยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและหากส่งสินค้าดังกล่าวออกไปขายนอกราชอาณาจักรจะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(8) และ (9) มาตรา 80/1(1) และมาตรา 81(1)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร
          2. กรณีตามข้อ 2.1 ผู้รับเงินมีหน้าที่ต้องออกใบรับทันทีทุกครั้งที่ได้รับเงินหรือรับชำระราคา ไม่ว่าจะมีการเรียกร้องจากผู้รับเงินหรือไม่ ตามมาตรา 105 และมาตรา 105 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร กรณีผู้ซื้อให้ผู้ขายจัดทำใบรับเงินเดือนละ ครั้งพร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับเงิน จึงไม่อาจกระทำได้
          3. กรณีตามข้อ 2.2 และ 2.3 รายจ่ายที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสิทธินำมาหักในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีโดยไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวลรัษฎากร จะต้อง เป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงและผู้จ่ายสามารถพิสูจน์ได้ว่าใครเป็นผู้รับ ดังนั้นการปฏิบัติตามข้อ 2.2 และ 2.3 จึงไม่อาจกระทำได้
เลขตู้: 70/35486

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020