เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/11988
วันที่: 3 ธันวาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัท P ได้ก่อสร้างอาคารโกดัง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 โดยว่าจ้าง บริษัท D จำกัด เป็นผู้ออกแบบ บริษัท T และ E เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและบริษัท S เป็นผู้ดำเนินการด้านการขุดเจาะและตรวจสภาพชั้นดิน ในระหว่างการก่อสร้าง ลักษณะของดินเกิดการพังทลาย ประมาณเดือนมกราคม 2549 จึงหยุดการก่อสร้าง บริษัทฯ ได้ว่าจ้างวิศวกรมาทำการวิเคราะห์ เสถียรภาพ การแก้ปัญหาการเคลื่อนตัวของกำแพงกันดินและการออกแบบแก้ไข จากผลการวิเคราะห์ บริษัทฯ ตัดสินใจ ไม่ดำเนินการก่อสร้างอาคารต่อและยกเลิกสัญญาเช่าที่ดินและขนย้ายเครื่องมือออกจากที่ก่อสร้างรวมค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง จำนวน 9,198,178 บาท ซึ่งบริษัทฯ บันทึกบัญชีเป็นทรัพย์สินระหว่างก่อสร้าง
          บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
          1. กรณีบริษัทฯ ขอยกเลิกการก่อสร้าง เนื่องจากปัญหาการพังทลายของดิน มูลค่าของทรัพย์สินระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 9,198,178 บาท สามารถบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทั้งจำนวนในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2549 ได้หรือไม่
          2. ถ้าบริษัทฯ ไม่ได้ดำเนินการฟ้องร้องกับ บริษัท S และบริษัท D มีผลต่อการบันทึกค่าใช้จ่ายหรือไม่
แนววินิจฉัย          1. ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดำเนินการก่อสร้างอาคารโกดัง เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน มิให้นำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร และบริษัทฯ จะนำค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาก็ไม่ได้เช่นกัน เพราะการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินจะเริ่มหักนับ ตั้งแต่วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา กล่าวคือ วันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้งานหรือใช้ประโยชน์ได้แล้ว แต่กรณีอาคาร โกดังของบริษัทฯ เป็นทรัพย์สินที่ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ หากบริษัทฯ ประสงค์จะนำมาหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีใด บริษัทฯ ก็จะต้องทำการรื้อหรือทำลายสิ่งก่อสร้างดังกล่าวในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ทั้งนี้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจ กรมสรรพากรอนุมัติเป็นอย่างอื่นได้ อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ไม่ได้เลิกกิจการ ยังคงประกอบกิจการต่อไป ข้อมูลที่ได้จาก การสำรวจ การออกแบบและการจัดโครงการก็ยังมีอยู่ และยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทฯ จึงควรบันทึกบัญชีเป็นรายจ่าย อันมีลักษณะเป็นการลงทุน ในอนาคตหากบริษัทฯ มีการดำเนินการโครงการต่อหรือกรณีบริษัทฯ ขายแบบอาคารโกดัง บริษัทฯ จะนำค่าใช้จ่ายดังกล่าว มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้หรือไม่ เมื่อใด ย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง ที่จะเกิดขึ้นในภายหน้า ซึ่งยังไม่อาจคาดการณ์ได้
          2. ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารโกดังดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นค่าใช้จ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร แม้จะมีการฟ้องร้อง ทางแพ่งระหว่างบริษัทฯ กับคู่กรณี ก็ไม่มีผลต่อการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งเป็นไปตามที่ ประมวลรัษฎากรบัญญัติไว้แต่อย่างใด
เลขตู้: 70/35492

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020