เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/12107
วันที่: 11 ธันวาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรายได้รายจ่ายและการจ่ายเงินไปต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 65 และมาตรา 65 ตรี (19) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนประเภท 4.8 กิจการผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะชนิดชุดสายไฟฟ้าและชุดตกแต่งภายในสำหรับรถยนต์ บริษัทฯ เป็นบริษัทในเครือ ของ A ประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จำหน่ายแก่บริษัท B ประเทศเยอรมัน เมื่อบริษัท B เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย A ประเทศเยอรมัน จะต้องจัดส่งชิ้นส่วนยานยนต์ให้แก่บริษัท B ประเทศไทยโดยต้องจำหน่ายชิ้นส่วนให้ในราคาที่กำหนดขึ้นตามนโยบายการบริหารต้นทุนและราคาของบริษัท B ประเทศเยอรมัน ซึ่ง การจัดหาชิ้นส่วนยานยนต์ที่บริษัท B ประเทศไทย จะนำมาใช้นี้เดิม D ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ A ประเทศเยอรมัน เป็นผู้มีหน้าที่จัดจำหน่าย เมื่อบริษัท B มาประกอบกิจการในประเทศไทย D ได้ทำสัญญา Framework Agreement เพื่อโอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายชิ้นส่วนยานยนต์มาให้บริษัทฯ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายแทน โดยตาม Framework Agreement ข้อกำหนดว่า ราคาชิ้นส่วนยานยนต์ที่บริษัทฯ จำหน่ายนั้น บริษัทฯ จะต้องได้รับกำไรในอัตราร้อยละ 4-6 หากบริษัทฯ ขายชิ้นส่วนได้กำไรในอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 4 บริษัทฯ จะได้รับชำระกำไรส่วนที่ขาดจาก D แต่หาก บริษัทฯ ขายชิ้นส่วนได้กำไรสูงกว่าร้อยละ 6 บริษัทฯ จะต้องส่งส่วนต่างกำไรที่ได้รับไปให้แก่ D โดยบริษัทฯ ถือว่า การส่งกำไรส่วนต่างให้แก่ D ในกรณีนี้เป็นการตอบแทนการโอนสิทธิผลิตและขายชิ้นส่วนยานยนต์
          บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
          1. ผลกำไรร้อยละ 4-6 ที่บริษัทฯ ได้รับจาก D กรณีที่บริษัทฯ ขายชิ้นส่วนยานยนต์แล้วได้รับกำไรต่ำกว่า ร้อยละ 4 ถือเป็นรายได้ที่ได้รับเนื่องจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนถูกต้องหรือไม่
          2. ผลกำไรที่บริษัทฯ จ่ายไปให้แก่ D กรณีที่บริษัทฯ ขายชิ้นส่วนยานยนต์แล้วได้รับกำไรสูงกว่าร้อยละ 6 ถือเป็นรายจ่ายเพื่อการประกอบกิจการในประเทศไทย ถูกต้องหรือไม่
          3. ผลกำไรตาม 2. ถือเป็นรายได้ประเภทกำไรจากธุรกิจตามข้อ 7 ของความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทย กับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน เนื่องจาก D ไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย เงินได้ดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการประกอบกิจการใน ประเทศไทยของ D และไม่มีการอนุญาตให้ใช้ทรัพย์สินทางปัญญาหรือถ่ายทอดเทคโนโลยีใดๆ ให้แก่บริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่
แนววินิจฉัย
          1. ตาม 1. บริษัทฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนประเภทการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอุตสาหกรรม ยานยนต์ชนิดชุดสายไฟฟ้าและชุดตกแต่งภายในสำหรับรถยนต์ การที่บริษัทฯ ได้รับโอนสิทธิผลิตและขายชิ้นส่วน ยานยนต์จาก D เพื่อส่งขายให้แก่บริษัท B ประเทศไทยโดยมีข้อสัญญาเกี่ยวกับรายได้ที่บริษัทฯ จะได้รับว่า หากบริษัทฯ มีรายได้จากการจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ต่ำกว่าร้อยละ 4 บริษัทฯ จะต้องได้รับชดเชยกำไรในอัตราร้อยละ 4-6 จาก D แต่หากบริษัทฯ ขายชิ้นส่วนได้กำไรสูงกว่าร้อยละ 6 บริษัทฯ จะต้องส่งส่วนต่างของกำไร ที่ได้รับไปให้แก่ D ข้อสัญญาดังกล่าว มีลักษณะเป็นการประกันราคาขายสินค้าที่บริษัทฯ ควรจะได้รับจาก การขายสินค้าตามสัญญาโอนสิทธิผลิตและขายชิ้นส่วนยานยนต์ ดังนั้น ส่วนต่างที่รับมาหรือจ่ายไปจึงเป็นรายได้ หรือรายจ่ายของกิจการ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร
          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเงื่อนไขตามบัตรส่งเสริมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ยกเว้นให้บริษัทฯ ไม่ต้อง นำรายได้ที่ได้รับจากการขายผลิตภัณฑ์รวมทั้งผลพลอยได้ มาเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น หมายถึงรายได้ที่บริษัทฯ ได้รับมาจากการขายผลิตภัณฑ์นั้นๆ แต่มูลค่าของผลกำไรตามที่กำหนดไว้ใน ข้อสัญญาโอนสิทธิผลิตและขายชิ้นส่วน ยานยนต์ที่บริษัทฯ มีสิทธิที่จะได้รับคืนมาจาก D เป็นรายได้ที่อาศัยมูลค่าของรายได้ที่ได้รับจากการขายผลิตภัณฑ์ ตามบัตรส่งเสริมฯ มาเป็นตัวกำหนดเพื่อให้รู้ว่า บริษัทฯ มีรายได้สูงหรือต่ำกว่าที่ควรจะเป็น จึงเห็นได้ว่า มูลค่าของผลกำไรที่บริษัทฯ มีสิทธิจะได้รับคืนมาจาก D มิได้เป็นรายได้ที่ได้รับจากการขายผลิตภัณฑ์ตามบัตรส่งเสริมฯ ที่แท้จริง จึงไม่ถือว่า มูลค่าของกำไรที่บริษัทฯ ได้รับมาตามสัญญาโอนสิทธิผลิตและขายชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นรายได้ของกิจการที่ได้รับการส่งเสริมฯ จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
          2. ตาม 2. หากเงินกำไรดังกล่าวคำนวณจากรายได้จากการขายชิ้นส่วนยานยนต์หักด้วยต้นทุนสินค้าและ คำนวณเป็นระยะ ๆ โดยไม่ได้คำนวณจ่ายจากผลกำไรที่ได้รับเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี บริษัทฯ สามารถนำเงินที่จ่ายไปในกรณีดังกล่าว ไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (19) แห่งประมวลรัษฎากร
          3. ตาม 3. หากส่วนต่างของผลกำไรที่บริษัทฯ มีหน้าที่ตามสัญญาจะต้องโอนไปให้ D ตาม Framework Agreement นั้น มีผลเป็นค่าตอบแทนกู๊ดวิลล์ของ D หรือเพื่อการใช้เครื่องหมายการค้าแบบ แผนผังในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ หรือเพื่อการใช้ข้อสนเทศเกี่ยวกับประสบการณ์ทางอุตสาหกรรมพาณิชยกรรมหรือทางวิทยาศาสตร์ ส่วนต่างของผลกำไรที่จ่ายดังกล่าว ถือเป็นค่าสิทธิ ตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่าย ส่วนต่างดังกล่าวออกไปให้ D บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในอัตราร้อยละ 15 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 12 วรรคสอง (ข) แห่งความตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนฯ
เลขตู้: 70/35504

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020