เลขที่หนังสือ | : กค 0706(กม.08)/3582 |
วันที่ | : 4 ธันวาคม 2550 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาคจัดซื้อและจัดจ้างแทนบริษัทในเครือ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 66 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | 1. บริษัทฯ ได้จดทะเบียนจัดตั้งสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (ROH) เพื่อให้บริการแก่บริษัทในเครือทั้งใน ประเทศและต่างประเทศ โดยการให้บริการจะครอบคลุมถึงการให้บริการจัดซื้อจัดหาสินค้าซึ่งหมายถึงวัตถุดิบ หรือชิ้นส่วนที่จำเป็นในการประกอบกิจการของบริษัทในเครือให้แก่บริษัทในเครือในประเทศและต่างประเทศ โดย บริษัทในเครือจะมีคำสั่งซื้อมายังบริษัทฯ เพื่อให้ดำเนินการคัดเลือกผู้ขายเมื่อคัดเลือกได้แล้วบริษัทฯ จะแจ้งไปยังบริษัทในเครือ (ผู้ซื้อ) เพื่อขออนุมัติ เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว จึงจะทำสัญญากับผู้ขายโดยผู้ลงนามในสัญญาจะซื้อจะขาย คือ บริษัทในเครือ ไม่ใช่บริษัทฯ และบริษัทในเครือจะทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทในเครือสำหรับสัญญาซื้อขายที่ต้องการกำหนดปริมาณการสั่งซื้อหรือบริการจำนวนแน่นอนกันภายหลัง โดยบริษัทฯ จะดำเนินการจัดทำสัญญาให้เมื่อบริษัทในเครือต้องการสินค้าหรือบริการดังกล่าว ทั้งนี้ บริษัทในเครือจะเป็นผู้ออกคำสั่งซื้อหรือเรียกใช้บริการภายใต้สัญญาดังกล่าวไปยังผู้ขายหรือผู้ให้บริการโดยตรงภายหลัง เพื่อส่งมอบสินค้าหรือบริการเป็นครั้งคราวตามที่บริษัทในเครือจะกำหนดโดยจะก่อให้เกิดผลบังคับตามสัญญาเมื่อมีการออกคำสั่งซื้อหรือเมื่อมีการเรียกใช้บริการ แล้วแต่กรณี 2. บริษัทฯ แจ้งว่า บริษัทในเครือจะมอบหมายให้บริษัทฯ เจรจาต่อรองและลงนามในสัญญาซื้อขายแทน บริษัทในเครือ โดยบริษัทฯ เป็นผู้ให้บริการจัดหาสินค้า ได้แก่ วัตถุดิบหรือชิ้นส่วนที่จำเป็นในการประกอบกิจการให้แก่บริษัทในเครือ ซึ่งบริษัทฯ จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการสั่งซื้อการรับมอบสินค้า การชำระราคาแทน บริษัทในเครือ กล่าวคือบริษัทในเครือจะเป็นผู้ชำระราคาค่าสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ โดยตรง และการดำเนินการจัดซื้อดังกล่าวจะไม่ก่อให้เกิดรายได้แก่บริษัทในเครือในฐานะผู้ว่าจ้างในประเทศไทยแต่อย่างใด 3. บริษัทฯ มีความเข้าใจว่า 3.1 การดำเนินการดังกล่าวไม่อาจถือได้ว่าบริษัทในเครือผู้รับบริการด้านการจัดซื้อจากบริษัทฯ และได้มอบหมายให้บริษัทฯเข้าทำการเจรจาต่อรอง และเข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยตามมาตรา 66 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทย 3.2 หากกรณีการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการประกอบกิจการในประเทศไทย บริการจัดซื้อสินค้าที่บริษัทฯ ให้บริการตลอดจนการมอบหมายให้เจรจาต่อรองที่บริษัทฯ ได้กระทำการแทนบริษัทในเครือดังกล่าวนั้น ไม่เป็นเหตุอันถือได้ว่าบริษัทในเครือดังกล่าวมีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยหรือมีกำไรที่พึงถือว่าเป็นสถานประกอบการถาวรภายใต้บทบัญญัติอนุสัญญาภาษีซ้อน | แนววินิจฉัย | เนื่องจากบริษัทในเครือตกลงให้บริษัทฯ จัดหาวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนที่จำเป็นในการประกอบกิจการให้แก่ บริษัทในเครือ โดยบริษัทในเครือจะมอบหมายให้บริษัทฯ เจรจาต่อรองและลงนามในสัญญาซื้อขายแทนบริษัทในเครือ บริษัทฯ จะไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการสั่งซื้อ การรับมอบสินค้าการชำระราคาค่าสินค้า กล่าวคือ บริษัทในเครือจะเป็นผู้จ่ายเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการโดยตรงบริษัทในเครือ (ผู้ซื้อ) จึงไม่มีรายได้จากการดำเนินการดังกล่าวในประเทศไทยและไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากรสำหรับการซื้อสินค้า แต่อย่างใด |
เลขตู้ | : 70/35518 |