เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/12152
วันที่: 2 ธันวาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของชาวต่างชาติตามเงื่อนไข การออกภาษีให้ตลอดไป
ข้อกฎหมาย: มาตรา 41 วรรคหนึ่ง และมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัท ก. ขอหารือกรณีการขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ของบริษัทฯ ซึ่งออกภาษีให้กับลูกจ้างทุกทอด โดยมีข้อเท็จจริง สรุปได้ ดังนี้
          1. บริษัท ก. เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีสำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ และมีสาขาในประเทศไทย บริษัทฯ ส่ง Mr. A ผู้จัดการทั่วไปภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้ามาทำงานที่สาขาในประเทศไทยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2547 จนถึงปัจจุบัน บริษัทฯ ได้มีการจ่ายเงินได้พึงประเมินให้ Mr. A ทั้งในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ และประเทศไทย Mr. A ได้นำเงินได้พึงประเมินที่ได้รับทั้ง 2 แห่งดังกล่าว มารวมคำนวณเป็น เงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
          2. บริษัทฯ มีนโยบายบรรเทาภาระการเสียภาษีของลูกจ้างที่ได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ กล่าวคือ ไม่ให้ลูกจ้างต้องรับภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเกินกว่าจำนวนที่ต้องเสีย เมื่อเทียบกับภาระภาษีที่ปฏิบัติหน้าที่ในเขตบริหาร พิเศษฮ่องกงฯ ดังนั้น บริษัทฯ จึงได้ทำข้อตกลงกับลูกจ้างว่า ลูกจ้างยังคงต้องรับผิดชอบเงินภาษีเท่ากับจำนวนภาษีที่ต้องเสียใน การทำงานในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ และบริษัทฯ เป็นผู้รับผิดชอบภาษีส่วนที่เกินนั้นแทนลูกจ้าง (ระบบ Tax Equalization และ Hypothetical Tax) นโยบายดังกล่าว เป็นการให้ประกันหรือคำรับรองกับลูกจ้างที่ต้องเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศว่า ไม่ว่าลูกจ้างจะไปทำงานอยู่ในประเทศที่มีการเรียกเก็บภาษีอย่างไร ลูกจ้างจะมีภาระภาษีเท่ากับจำนวนภาษีที่ต้องเสียในเขต บริหารพิเศษฮ่องกงฯ
          3. ตามหลักการของระบบ Tax Equalization และ Hypothetical Tax นั้น Mr. A ต้องคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้
          ภาษีที่ Mr. A ต้องเสียตามประมวลรัษฎากร = 3,218,305 บาท (1)
          ภาษีส่วนที่ Mr. A ต้องเสีย หากทำงานในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ = 1,565,506 บาท (2) หรือ Hypothetical Tax
          ภาษีส่วนที่บริษัทฯ ต้องรับผิดชอบตามข้อตกลง = 1,652,799 บาท (3) ในระบบ Tax Equalization ((1) - (2))
          ภาษีส่วนที่บริษัทฯ ออกให้เพิ่มเติม เนื่องจากนำภาษีที่บริษัทฯ = 970,692 บาท (4) ต้องรับผิดชอบตาม (3) ไปรวมเป็นเงินได้ของ Mr. A (กรณีคำนวณภาษีแบบนายจ้างออกให้ทุกทอด)
          ภาษีที่ต้องนำส่งในประเทศไทยทั้งสิ้น ((1) + (4)) = 4,188,997 บาท (5)
          4. การคำนวณภาษีเงินได้ของ Mr. A บริษัทฯ มิได้นำจำนวน Hypothetical Tax ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกงฯ มาหักออกในการคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในแต่ละเดือนภาษี ทำให้การคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายของ Mr. A มีจำนวนมากกว่าจำนวนภาษีที่บริษัทฯ ต้องออกให้ตามข้อตกลง ดังนี้
          ภาษีที่ Mr. A ต้องเสียตามประมวลรัษฎากร = 3,218,305 บาท (1)
          ภาษีส่วนที่ Mr. A ต้องเสีย หากทำงานในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ = - บาท (2) หรือ Hypothetical Tax
          ภาษีส่วนที่บริษัทฯ ต้องรับผิดชอบตามข้อตกลง = 3,218,305 บาท (3) ในระบบ Tax Equalization ((1) - (2))
          ภาษีส่วนที่บริษัทฯ ออกให้เพิ่มเติม เนื่องจากนำภาษีที่บริษัทฯ = 1,890,116 บาท (4) ต้องรับผิดชอบตาม (3) ไปรวมเป็นเงินได้ของ Mr. A (กรณีคำนวณภาษีแบบนายจ้างออกให้ทุกทอด)
          ภาษีที่ต้องนำส่งในประเทศไทยทั้งสิ้น ((1) + (4)) = 5,108,421 บาท (5)
          5. การคำนวณตาม 3. และ 4. เป็นเหตุให้บริษัทฯ หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของ Mr. A มากกว่าที่ Mr. A มีหน้าที่ต้องเสีย เป็นเงิน 919,424 บาท (5,108,421 ลบ 4,188,997)
          บริษัทฯ จึงขอทราบว่า บริษัทฯ มีสิทธิขอคืนเงินภาษีส่วนเกินที่บริษัทฯ ได้หัก ณ ที่จ่าย และนำส่งในนามของ Mr. A ต่อกรมสรรพากร โดยต้องพิจารณาความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับ ภาษีเก็บจากเงินได้กับเขตบริหารพิเศษฮ่องกงฯ หรือไม่
แนววินิจฉัย          กรณีที่ Mr. A มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย ตามมาตรา 41 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 15 แห่งความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและรัฐบาลแห่ง ราชอาณาจักรไทย เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ หากปรากฏว่า Mr. A ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายเกินกว่าที่ควรต้องเสียเนื่องจากบริษัทฯ นำจำนวนเงินภาษีมากกว่าจำนวน ที่บริษัทฯ ออกให้ ไปรวมเป็นเงินได้ของ Mr. A นั้น Mr. A ซึ่งเป็นผู้เสียประโยชน์ มีสิทธิขอคืนภาษีในกรณีดังกล่าวได้ และ Mr. A อาจมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรให้บริษัทฯ เป็นผู้ขอคืนแทนได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 70/35514

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020