เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/12151
วันที่: 12 ธันวาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินค่าเลี้ยงชีพจากต่างประเทศ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. นาง พ. ได้จดทะเบียนสมรสกับนาย ม. สัญชาติอังกฤษ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2546 นาย ม. ทำงานให้กับบริษัทฯ ในประเทศอังกฤษและมีข้อตกลงตามสัญญาจ้างแรงงานกับบริษัทฯ ว่า เมื่อนาย ม. เสียชีวิต บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินบำนาญ เลี้ยงชีพ (pension) ให้แก่ภริยาเป็นค่าเลี้ยงดูทุกเดือน จนกว่าภริยาจะเสียชีวิตหรือสมรสใหม่ ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2548 นาย ม. ได้เสียชีวิตที่ประเทศอังกฤษ นาง พ. ภริยาจึงได้รับเงินบำนาญเลี้ยงชีพจากบริษัทฯ เป็นประจำทุกเดือน ตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2548 เป็นต้นมา เฉลี่ยประมาณเดือนละ 678 ปอนด์ (ประมาณ 38,000 บาท)
          2. ในปี 2548 นาย ม. อยู่ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม 2548 ถึงวันที่ 26 เมษายน 2548 (30 วัน) เท่านั้น ส่วนนาง พ. อยู่ในต่างประเทศ ระหว่างวันที่ 2 มิถุนายน 2548 ถึงวันที่ 18 กันยายน 2548 (109 วัน) และนาง พ. อยู่ใน ประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2548 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
แนววินิจฉัย
          1. เงินบำนาญเลี้ยงชีพ (pension) ที่บริษัทฯ จ่ายดังกล่าว ไม่เข้าลักษณะเป็นบริการส่วนบุคคลที่ไม่เป็นอิสระตามข้อ 16 แห่งอนุสัญญาระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์เหนือฯ เพราะเป็นเงิน ที่จ่ายเนื่องมาจากการทำงานในอดีตของนาย ม. และโดยที่อนุสัญญาฉบับดังกล่าว ไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับเงินได้จากการทำงาน ในอดีต (หรือเงินบำนาญ) และเงินได้อื่นไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น เงินบำนาญเลี้ยงชีพ (pension) ที่บริษัทฯ จ่ายนั้น จึงไม่ตกอยู่ ภายใต้ประเภทของเงินได้ที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฯ และไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามอนุสัญญาฉบับดังกล่าว
          2. เงินบำนาญเลี้ยงชีพ (pension) ที่บริษัทฯ ในประเทศอังกฤษ จ่ายให้แก่นาง พ. เป็นเงินที่บริษัทฯ จ่ายตามสัญญาจ้าง แรงงาน ระหว่างบริษัทฯ กับนาย ม. ในต่างประเทศ จึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการจ้างแรงงานเนื่องจากหน้าที่งานใน ต่างประเทศ ดังนั้น นาง พ. จึงมีหน้าที่ต้องนำเงินได้ดังกล่าว มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทย หากนาง พ. อยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะรวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีใด และนาง พ. นำเงินได้นั้นเข้ามาในประเทศไทย ทั้งนี้ ตามมาตรา 40(1) และมาตรา 41 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 70/35513

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020