เลขที่หนังสือ | : กค 0706/12342 |
วันที่ | : 20 ธันวาคม 2550 |
เรื่อง | : ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีสามีภริยาขายบ้านพร้อมที่ดินที่ซื้อก่อนจดทะเบียนสมรส |
ข้อกฎหมาย | : ข้อ 2(62) กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 |
ข้อหารือ | 1. วันที่ 5 กรกฎาคม 2534 นาง ก. และสามี ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส ได้ทำสัญญาซื้อบ้านพร้อมที่ดิน ต่อมาได้จดทะเบียนสมรส เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2536 นาง ก. และสามีได้ย้ายชื่อเข้ามาอยู่ในทะเบียนบ้านที่ได้ทำการซื้อไว้ เมื่อวันที่ 26กันยายน 2536 2. วันที่ 25 สิงหาคม 2549 นาง ก. ได้ซื้อบ้านพร้อมที่ดินอีกหนึ่งหลัง และนาง ก. ได้ย้ายชื่อออกจากทะเบียนบ้านหลังเดิมตามข้อ 1 ไปอยู่บ้านหลังใหม่ ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2549 3. วันที่ 24 พฤศจิกายน 2549 นาง ก. และสามี ได้ขายบ้านหลังเดิม และได้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ในวันจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม จำนวน 20,000.00 บาท 4. วันที่ 30 มีนาคม 2550 นาง ก. ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 91 สำหรับปีภาษี 2549 เฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร นาง ก. จึงขอทราบว่า หากการขายบ้านหลังเดิมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 241 (พ.ศ. 2546) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร นาง ก. มีสิทธิขอคืนภาษีเงินได้ที่เสียไปได้หรือไม่ และต้องใช้เอกสารใด | แนววินิจฉัย | 1. กรณีนาง ก. และสามีได้ร่วมกันซื้อบ้านพร้อมที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยก่อนจดทะเบียนสมรส บ้านพร้อมที่ดิน จึงเป็นทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรสอันเป็นสินส่วนตัว การที่นาง ก. และสามีได้ขายบ้านพร้อมที่ดินดังกล่าว ภายหลังจดทะเบียนสมรสแล้ว เงินที่ได้จากการขายบ้านพร้อมที่ดินยังคงเป็นสินส่วนตัวของแต่ละฝ่าย และสินส่วนตัวของฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการตามมาตรา 1471 ถึงมาตรา 1473 แห่งประมวลกฎหมายและพาณิชย์ เงินได้ตามส่วนจากการขายบ้านพร้อมที่ดินของนาง ก. และสามี ภายหลังจดทะเบียนสมรส หากความเป็น สามีภริยาได้มีอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษี ถือได้ว่า สามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้พึงประเมินจากการร่วมกันขายอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ให้ถือว่า เงินได้พึงประเมินของภริยา เป็นเงินได้ของสามี และให้สามีมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีตามมาตรา 57 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร อันเป็นบทบัญญัติโดยเฉพาะในการเรียกเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภริยา นางน้ำฝนฯ จึงต้องนำเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ในส่วนของตนมายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในนามของสามี ไม่เข้าลักษณะ เป็นเงินได้ในลักษณะของห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลซึ่งไม่ใช่นิติบุคคล ซึ่งเป็นหน่วยเสียภาษีต่างหากจากบุคคลธรรมดาตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อนาง ก. และสามี ได้ขายบ้านพร้อมที่ดิน โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร ทั้งสองฝ่าย เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ดังกล่าวเป็นสินส่วนตัวของนาง ก. และสามี ต่อมานาง ก. ได้ซื้อบ้านพร้อมที่ดินหลังใหม่ โดยจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในชื่อ ของนาง ก. ฝ่ายเดียว เมื่อนาง ก. ได้โอนชื่อเข้ามาในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของอสังหาริมทรัพย์ แห่งใหม่ฝ่ายเดียว นาง ก. จึงได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งผู้มีเงินได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยแห่งเดิม และให้ได้รับยกเว้นเท่ากับจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวแต่ไม่เกินจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ ทั้งนี้ ให้ถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์ เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ตาม มาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(62) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 241 (พ.ศ. 2546)ฯ และข้อ 1(3) และ (6) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 125)ฯ ลงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2546 2. กรณีนาง ก. ได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากการขายบ้านพร้อมที่ดินตามมาตรา 50(5) แห่งประมวลรัษฎากรไว้แล้ว มีสิทธิขอคืนได้ โดยจะต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย โดยยื่นแบบ ค.10 ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ หรือสำนักงาน สรรพากรพื้นที่สาขาท้องที่ที่นาง ก. มีภูมิลำเนา และต้องแนบหลักฐานตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 125)ฯ ลงวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2546 |
เลขตู้ | : 70/35522 |