เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/12383
วันที่: 21 ธันวาคม 2550
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการยกเว้นภาษีเงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
ข้อกฎหมาย: มาตรา 42(17) และมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          1. นาง อ. มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร จากบริษัทฯ และได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ โดยเริ่มซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรกในปี 2545 และซื้อต่อเนื่องมาโดยตลอดทุกปีในแต่ละปีได้นำรายจ่ายค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพฯ มาใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ดังนี้
           ปีภาษี จำนวนเงินได้(บาท) ซื้อหน่วยลงทุน(บาท) ใช้สิทธิยกเว้นภาษี(บาท)
          2545      3,254,955.28     300,000.00     300,000.00
          2546     1,755,365.90     ไม่มีข้อมูล ผู้ขอคืนภาษีจะให้ข้อมูลภายหลัง      263,304.89
          2547     1,723,375.19     250,000.00     250,000.00
          2548     1,263,386.88     300,000.00     189,508.03
          2. ในปีภาษี 2549 นาง อ. ซื้อหน่วยลงทุน จำนวนเงิน 200,000 บาท และได้ขายคืนระหว่างปี จำนวนเงิน 109,388.12 บาท มีกำไรจากการขายจำนวนเงิน 2,649.69 บาท ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.ง.ด. 90)และใช้สิทธิยกเว้นเงินได้จากการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ จำนวนเงิน 192,000 บาท จากการคำนวณภาษีมีภาษีที่ชำระไว้เกินและ ขอคืนภาษี จำนวนเงิน 54,622.62 บาท นาง อ. ชี้แจงว่า หน่วยลงทุนที่ได้ขายไปในปี 2549 เป็นหน่วยลงทุนที่ได้ซื้อมาในปี 2548 จำนวนเงิน 300,000 บาท แต่เนื่องจากใช้สิทธิยกเว้นภาษีได้เพียงร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินคือจำนวนเงิน 189,508.03 บาท ดังนั้น จึงขายหน่วยลงทุนที่ไม่ได้นำมาใช้สิทธิยกเว้นภาษีออกไปในปี 2549 จำนวนเงิน 109,388.12 บาท
          จึงขอทราบว่า
          2.1 นาง อ. มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีจากการซื้อหน่วยลงทุน ในปี 2549 หรือไม่
          2.2 ปีภาษี 2545-2548 นาง อ. มีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีจากการซื้อหน่วยลงทุน หรือไม่ และจะต้องประเมินภาษีเพิ่มเติมพร้อมเงินเพิ่ม ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่
แนววินิจฉัย          1. ในปีภาษี 2549 นาง อ. ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ นาง อ. ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ให้เป็นไปตามเงื่อนไข ข้อ 1 (2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90)ฯ ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2544 จึงจะมีสิทธินำเงินที่ซื้อหน่วยลงทุนในปีภาษี 2549 เท่าที่ได้จ่ายไปจริงในการซื้อหน่วยลงทุนและถือไว้ตลอดปีภาษี ทั้งนี้ ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ข้อ 2 (55) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90)ฯ ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2544 หากนาง อ. มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว ย่อมหมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนไปหักออกจากเงินได้ เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้วที่อยู่ในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของปีภาษี นั้นๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมเพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของแต่ละปีภาษีที่ผ่านมา พร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
          2. ในปีภาษี 2545-2548 หากนาง อ. ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้แล้ว ต่อมาได้ขายหน่วยลงทุนดังกล่าวไปทั้งหมดหรือบางส่วน โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามข้อ 2 (55) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90)ฯ ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2544 ดังนั้น นาง อ. จึงหมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุน ไปหักออกจากเงินได้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้วที่อยู่ในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของปีภาษีนั้นๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมเพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของแต่ละปีภาษีที่ผ่านมา พร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
เลขตู้: 70/35529

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020