เลขที่หนังสือ | : กค 0706(กม.02)/พ./12479 |
วันที่ | : 27 ธันวาคม 2550 |
เรื่อง | : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีโอนสิทธิเรียกร้องเพื่อดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการ |
ข้อกฎหมาย | : มาตรา 77/1(10) และมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร |
ข้อหารือ | บริษัท ก. ประกอบกิจการขายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการผ่านศาลล้มละลายกลาง โดยศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ก. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2542 และในแผนฟื้นฟู กิจการ บริษัท ก. จะต้องจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจขึ้น เพื่อรับโอนสินทรัพย์ที่มิใช่สินทรัพย์หลักของกิจการ เพื่อนำมาบริหาร และนำเงินที่ได้คืนแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ตามข้อ 3(ก)(2) และข้อ 3(ข)(1) ของข้อกำหนดแผนฟื้นฟูกิจการ ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2542 บริษัท ก. จึงได้จัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจขึ้น ได้แก่ บริษัท ข. เพื่อรับโอนสินทรัพย์และหนี้สิน ดังนี้ 1. บริษัท ก. โอนสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ให้แก่บริษัท ข. เป็นหนี้ที่เกิดจากบริษัท ก. ขายสินค้าและให้ลูกค้ากู้ยืมเงิน จำนวน 284.68 ล้านบาท รวมทั้งหุ้นที่บริษัท ก. ถืออยู่ในการลงทุนในบริษัทในเครือซึ่งไม่มีมูลค่าและไม่มีการขายแล้ว จำนวน 48.85 ล้านบาท รวมมูลหนี้ทั้งสิ้น 333.53 ล้านบาท บริษัท ก. ได้โอนสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นหนี้ที่เกิดจากการที่บริษัท ก. ซื้อสินค้าและกู้ยืมเงิน รวมจำนวน 333.53 ล้านบาท ให้แก่บริษัท ข. ด้วย ในการรับโอนลูกหนี้นั้น เป็นการรับโอนแทนบรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลาย ซึ่งมีอยู่หลายรายบางรายเป็นเจ้าหนี้ต่างประเทศ ในแผนฟื้นฟูกิจการได้ระบุ ให้นิติบุคคลเฉพาะกิจสามารถควบคุมได้โดยเจ้าหนี้ผ่านบริษัท ข. และเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตามแผนฟื้นฟูกิจการ ไม่มีการตั้งตัวแทนและสัญญาซื้อขายระหว่างกัน 2. บริษัท ข. มีหน้าที่ติดตามทวงหนี้จากลูกหนี้ที่ได้รับโอนมา และนำเงินที่ได้รับจากการทวงหนี้ หักด้วยค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการบริหารกิจการ และติดตามหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้ที่ได้รับโอนมาเป็น "เงินสุทธิที่ได้รับจากการขาย" เช่น ลูกหนี้มี มูลหนี้จำนวน 250 บาท ได้รับชำระเงินจากการติดตามทวงถามจำนวน 100 บาท บริษัท ข. มีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน และติดตามทวงหนี้จำนวน 20 บาท เจ้าหนี้จะได้รับคืนจากบริษัท ข. จำนวน 80 บาทแต่ถ้าได้รับชำระเงินจากการติดตามทวงถามจำนวน 300 บาท เจ้าหนี้จะได้รับเงินคืนจากบริษัท ข. จำนวน 280 บาท บริษัท ข. ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ลูกหนี้ตามจำนวนที่รับมา โดยไม่มีการออกใบกำกับภาษีให้แก่ลูกหนี้ และบริษัท ข. คำนวณรายได้จากจำนวนที่ได้รับชำระจากลูกหนี้ ดังนี้ 2.1 กรณีได้รับชำระเงินสูงกว่าหนี้ที่ได้รับโอนมา จะบันทึกเป็นรายได้ในบัญชี "กำไรจากการรับชำระหนี้" เช่น ได้รับชำระเงินจำนวน 300 บาท บันทึกรายได้เป็นผลกำไรจำนวน 50 บาท (300-250=50) เป็นต้น 2.2 กรณีได้รับชำระเงินต่ำกว่าหนี้ที่ได้รับโอนมา จะบันทึกเป็นผลขาดทุนในบัญชี "ขาดทุนจากการรับชำระหนี้" เช่น ได้รับชำระเงินจำนวน 100 บาท บันทึกไว้เป็นผลขาดทุนจำนวน 150 บาท (250-100=150) เป็นต้น 3. บริษัท ข. มีค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน และติดตามทวงถามหนี้สิน ได้แก่ การจัดทำบัญชี ยื่นแบบแสดงรายการภาษี บริหารกิจการ จ้างทนายความเพื่อดำเนินการติดตามทวงถามหนี้สิน การเป็นผู้บริหารเป็นตัวกลางในการติดต่อระหว่างเจ้าหนี้ และบริษัท ข. ซึ่งผู้ให้บริการต่างๆ มีการเรียกเก็บค่าบริการตลอดจนภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท ข. โดยบริษัท ข. ได้นำภาษี ซื้อมาแสดงในแบบ ภ.พ.30 เป็นภาษีที่ชำระไว้เกิน แต่ไม่มีการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัท ข. ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกิจการ ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) มาโดยตลอด แต่ไม่ได้นำรายได้ที่ได้รับจากการรับชำระหนี้มาแสดงในแบบ ภ.พ.30 ด้วยเหตุผลว่า 3.1 บริษัท ข. เป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ จัดตั้งขึ้นเป็นการชั่วคราวตามแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อบริหารจัดการทรัพย์สิน หุ้น หนี้ และบัญชีรายรับ ที่รับโอนมาจากบริษัท ก. ให้แก่ เจ้าหนี้ทั้งหลาย เมื่อดำเนินภารกิจเสร็จตามแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท ข. จะถูกยกเลิกและชำระบัญชี 3.2 ธุรกรรมที่เกิดขึ้นตามข้อ 3.1 เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ก. ซึ่งศาลล้มละลายกลางได้ให้ความเห็นชอบ เพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายได้รับชำระหนี้จากบริษัท ก. ในฐานะลูกหนี้เท่านั้น 3.3 บริษัท ข. ไม่มีวัตถุประสงค์ในการค้าหนี้เพื่อหากำไร เช่นเดียวกับธุรกิจแฟ็กเตอริง บริษัท ข. ไม่ได้ชำระดอกเบี้ยให้แก่เจ้าหนี้ในระหว่างที่บริษัท ก. ยังเป็นหนี้อยู่กับเจ้าหนี้ทั้งหลาย และมิได้รับชำระดอกเบี้ยจากลูกหนี้ของบริษัท ก. ตามสิทธิเรียกร้องที่รับโอนมา 3.4 เงินเพิ่มที่ได้จากมูลค่าที่ได้รับโอนมาจากการบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน มิได้ตกอยู่แก่บริษัท ข. เนื่องจากต้องโอนเงินสุทธิทั้งหมดให้แก่เจ้าหนี้ ผู้บริหารของบริษัท ข. เป็นผู้ชำระบัญชีที่ได้รับแต่งตั้ง และได้รับค่าตอบแทนตามแผนฟื้นฟูกิจการ มิใช่บุคลากรของบริษัท ข. บริษัท ข. จึงขอทราบว่า 1. บริษัท ข. ถือเป็นกิจการที่ให้บริการแก่เจ้าหนี้ในการดำเนินการติดตามหนี้จากลูกหนี้ตามสิทธิเรียกร้องที่ได้รับโอนมาหรือไม่ และเป็นกิจการต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ หากต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม จะคำนวณรายได้จากฐานใด และออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ใด 2. หากกิจการของบริษัท ข. ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ตั้งแต่ก่อตั้งกิจการ และยื่นแบบ ภ.พ.30 มาตลอด โดยชำระภาษีซื้อ และขอเครดิตภาษีไว้ แต่ไม่ได้นำมาใช้ และไม่ได้ขอคืน ต้องปฏิบัติอย่างไร 3. การรับรู้รายได้ส่วนเกินและส่วนขาดของบริษัท ข. กรณีจำนวนเงินที่ได้รับชำระสูงกว่าจำนวนหนี้ที่ได้รับโอนมา จะบันทึกเป็นรายได้ในบัญชี "กำไรจากการรับชำระหนี้" กรณีจำนวนเงินที่ได้รับชำระต่ำกว่าจำนวนหนี้ที่ได้รับโอนมา จะบันทึกเป็นผลขาดทุนในบัญชี "ขาดทุนจากการรับชำระหนี้" ถูกต้องหรือไม่ | แนววินิจฉัย | 1. กรณีตาม 1 และ 2 บริษัท ข. เป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจจัดตั้งขึ้นตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ก. เพื่อรับโอนสิทธิ เรียกร้องการรับชำระเงินของลูกหนี้บริษัท ก. จากการขายสินค้าและให้ลูกค้ากู้เงินการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างบริษัท ก. กับ บริษัท ข. ไม่มีการจัดทำสัญญาซื้อขาย สัญญาการเป็นตัวแทน บริษัท ข. มีหน้าที่ติดตามทวงหนี้ของบริษัท ก. เพื่อนำเงินที่ได้ รับชำระภายหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วคืนแก่เจ้าหนี้ทั้งหมด การประกอบกิจการรับชำระหนี้ของบริษัท ข. เข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (เอกสารแนบ 12) และถือเป็น "บริการ" บริษัท ข. ในฐานะผู้ให้บริการมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการเกิดขึ้น จากมูลค่าทั้งหมดของ ค่าตอบแทนที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการให้บริการ ซึ่งค่าตอบแทนที่ได้รับชำระหนี้ที่ต้องนำไปเป็นฐานภาษีในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ถือตามตามราคาตลาด และบริษัท ข. มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้แก่เจ้าหนี้ผู้รับบริการ ตามมาตรา 77/1(10) มาตรา 77/2(1) มาตรา 78/1(1) มาตรา 79 มาตรา 79/3 และมาตรา 86 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีตาม 3 บริษัท ข. ได้รับชำระเงินจากการการติดตามทวงถามหนี้บริษัท ก. การบันทึกบัญชีของบริษัท ข. ให้ถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไป |
เลขตู้ | : 70/35543 |