เมนูปิด

เลขที่หนังสือ: กค 0706/12115
วันที่: 12 ธันวาคม 2550
เรื่อง: ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีรับจ้างผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย
ข้อกฎหมาย: มาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          บริษัทฯ ประกอบกิจการเป็นผู้รับจ้างผลิตและให้คำปรึกษา เกี่ยวกับการผลิตภาพยนตร์และรายการบันเทิงอื่นใด ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ รวมทั้งการผลิตรายการโทรทัศน์ รายการวิทยุ สารคดี การโฆษณาทางโทรทัศน์ วิทยุ ภาพยนตร์ หนังสือพิมพ์ วารสาร และสื่ออื่นๆ และเป็นตัวแทนทำการโฆษณาทุกชนิดทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งรายได้จากการผลิตโฆษณาให้กับลูกค้าในประเทศไทยหรือที่มีการแพร่ภาพในประเทศไทย บริษัทฯ ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 และในส่วนของการรับจ้างผลิตโฆษณาให้กับลูกค้าในต่างประเทศ หรือที่มีการถ่ายทำในประเทศไทยเพื่อลูกค้า ในต่างประเทศ โดยหลังจากที่ได้รับการว่าจ้างแล้ว บริษัทฯ เป็นผู้ดำเนินการจัดหาอุปกรณ์ ผู้กำกับ นักแสดง ทีมงาน และ อื่นๆ สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ โดยลูกค้าจะเป็นเพียงผู้ควบคุมภาพโดยรวมเพื่อให้การผลิตเป็นไปตามเป้าหมาย ส่วน ผลผลิตจากการถ่ายทำภาพยนตร์จะเป็นรูปแบบเทป ดิจิตอล ซึ่งบริษัทฯ จะส่งเทปดังกล่าวไปให้ลูกค้าในต่างประเทศเพื่อเผยแพร่โดยมิได้นำออกเผยแพร่ในประเทศไทยแต่อย่างใด บริษัทฯ ขอทราบว่า รายได้จากการผลิตโฆษณาที่ส่งออกดังกล่าว จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราเท่าใด
แนววินิจฉัย          บริษัทฯ ได้รับการว่าจ้างผลิตโฆษณาจากลูกค้าในต่างประเทศให้ผลิตภาพยนตร์โฆษณาในประเทศไทย โดยบริษัทฯ เป็นผู้ถ่ายทำภาพยนตร์รวมทั้งเป็นผู้ดำเนินการจัดหาอุปกรณ์ ผู้กำกับ นักแสดง ทีมงาน และอื่นๆ สำหรับการถ่ายทำภาพยนตร์ จากนั้นก็จะส่งผลผลิตจากการถ่ายทำเป็นรูปแบบเทป ดิจิตอล ซึ่งบริษัทฯ จะส่งเทปดังกล่าวไปให้ลูกค้าในต่างประเทศเพื่อทำการเผยแพร่โดยมิได้นำออกเผยแพร่ในประเทศไทยเข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรแก่ผู้รับบริการ ในต่างประเทศ และได้ส่งผลของการให้บริการนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด บริษัทฯ จึงได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105) เรื่อง กำหนดประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขกรณีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักร และได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 12กรกฎาคม พ.ศ. 2543
เลขตู้: 70/35509

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020