เมนูปิด

ประกาศกรมสรรพากร

เรื่อง หลักฐานการหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม

------------------------------

 

                          ตามที่ได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 165) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามข้อ 2(52) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126   (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 166) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามข้อ 2(53) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 167) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ตามข้อ 2(59) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 กำหนดให้ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานจากผู้ให้กู้ยืมที่พิสูจน์ได้ว่าได้มีการจ่ายดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินนั้น กรมสรรพากรจึงกำหนดหลักฐานที่จะใช้ในการหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ดังต่อไปนี้

 

                   ข้อ  1 ให้ยกเลิกประกาศกรมสรรพากร เรื่อง หลักฐานการหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ลงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกรมสรรพากร เรื่อง หลักฐานการหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม    ลงวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2545

 

                   ข้อ  2 หลักฐานที่ผู้มีเงินได้จะต้องใช้ในการหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม จะต้องมีข้อความอย่างน้อยตามแบบ ล.ย. 02 หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืม การลงชื่อของผู้ให้กู้ยืมหรือเจ้าหนี้ในหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามวรรคหนึ่ง จะใช้วิธีประทับลายมือชื่อของผู้ให้กู้ยืมหรือเจ้าหนี้ที่ออกหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมด้วยตรายาง หรือจะพิมพ์ลายมือชื่อผู้ให้กู้ยืมหรือเจ้าหนี้ที่ออกหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการเก็บลายมือชื่อไว้ (SCAN) ก็ได้

 

                   ข้อ 3 หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามข้อ 2 ต้องทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ แต่ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศอื่น ต้องมีคำแปลภาษาไทยกำกับ ส่วนตัวเลขให้ใช้เลขไทยหรืออารบิค

 

                   ข้อ 4  ผู้ให้กู้ยืมที่ประสงค์จะทำหนังสือรับรองเป็นอย่างอื่นนอกจากที่กล่าวไว้ในข้อ 2 และข้อ 3 ต้องยื่นคำขออนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรก่อน และเมื่อได้รับอนุมัติแล้วจึงจะปฏิบัติตามนั้นได้

 

                   ข้อ  5 แบบหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามแบบ ล.ย. 02 ที่ได้จัดทำขึ้นตามประกาศกรมสรรพากร เรื่อง หลักฐานการหักลดหย่อนสำหรับดอกเบี้ยเงินกู้ยืม ลงวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2543 ให้ใช้ต่อไปได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551

 

 

ประกาศ    ณ    วันที่  10 มีนาคม พ.ศ. 2551

 

ศานิต  ร่างน้อย

(นายศานิต  ร่างน้อย)

อธิบดีกรมสรรพากร

          

 

 

ปรับปรุงล่าสุด: 17-01-2012