เมนูปิด

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีเงินได้  (ฉบับที่   167)

เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม  สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ  เช่าซื้อหรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย  ตามข้อ 2(59)  แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126  (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

------------------------------

 

                          อาศัยอำนาจตามความในข้อ  2(59)  แห่งกฎกระทรวง  ฉบับที่  126  (พ.ศ.  2509)  ออกตามความในประมวลรัษฎากร  ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่  264  (พ.ศ. 2550)  ออกตามความในประมวลรัษฎากร  ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร  อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ  เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ  เช่าซื้อ  หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย  ดังต่อไปนี้

                          ข้อ  1 ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร  เกี่ยวกับภาษีเงินได้  (ฉบับที่  122)  เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ  เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม  สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ  เช่าซื้อ  หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย  ตามข้อ  2(59)  แห่งกฎกระทรวง  ฉบับที่  126  (พ.ศ.  2509)  ออกตามความในประมวลรัษฎากร  ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร  ลงวันที่  18  ธันวาคม  พ.ศ.  2545

                          ข้อ  2 การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ  เช่าซื้อ  หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย  ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

                                  (1)  เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสำหรับการกู้ยืมจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ

                                  (2)  เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามสัญญากู้ยืมเงินเพื่อซื้อ  เช่าซื้ออาคาร  อาคารพร้อมที่ดิน   หรือห้องชุดในอาคารชุด  หรือเพื่อสร้างอาคารใช้อยู่อาศัยบนที่ดินของตนเองหรือบนที่ดินที่ตนเองมีสิทธิครอบครอง

                                  (3)  ต้องจำนองอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุด หรืออาคารพร้อมที่ดินเป็นประกันการกู้ยืมเงินนั้น  โดยมีระยะเวลาจำนองตามระยะเวลาการกู้ยืม

                                  (4)  ต้องใช้อาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดตาม  (3)  เป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ได้รับยกเว้นภาษี  แต่ไม่รวมถึงกรณีลูกจ้างซึ่งถูกนายจ้างสั่งให้ไปปฏิบัติงานของนายจ้าง  ณ  ต่างถิ่นเป็นประจำ  หรือกรณีอาคารหรือห้องชุดดังกล่าวเกิดอัคคีภัย  ภัยธรรมชาติ หรือภัยอันเกิดจากเหตุอื่น  ทั้งนี้  เฉพาะที่มิใช่ความผิดของผู้มีเงินได้  จนไม่อาจใช้อาคารหรือห้องชุดนั้นอยู่อาศัยได้

                                 (5)  กรณีผู้มีเงินได้มีอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุดตาม  (3)  เป็นที่อยู่อาศัยในปีที่ได้รับยกเว้นภาษีเกินกว่า  1  แห่ง  ให้ได้รับยกเว้นภาษีได้ทุกแห่งสำหรับอาคารหรือห้องชุดในอาคารชุด  ตาม (3)

                                 (6)  ให้ได้รับยกเว้นภาษีตลอดปีภาษี  ไม่ว่ากรณีที่จะได้รับยกเว้นภาษีนั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่

                                 (7)  กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันกู้ยืมให้ได้รับยกเว้นภาษีได้ทุกคนโดยเฉลี่ยการได้รับยกเว้นภาษีตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้ แต่รวมกันต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริงและไม่เกิน  100,000  บาท

                                 (8)  กรณีสามีภริยาร่วมกันกู้ยืมโดยสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว  ให้ยกเว้นภาษีให้แก่ผู้มีเงินได้เต็มจำนวนตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน  100,000  บาท

                                 (9)  กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาได้สมรสกันให้ยังคงได้รับยกเว้นภาษีดังนี้

                                       (ก)  ถ้าความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน  100,000  บาท

                                       (ข)  ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีและภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา  57  เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร  ให้ได้รับยกเว้นภาษีรวมกันตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน  100,000  บาท

                                       (ค)  ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีและภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา  57  เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร  ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีได้กึ่งหนึ่งของจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันไม่เกิน  100,000  บาท

                               (10) กรณีการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้เงินกู้ยืมระหว่างผู้ให้กู้ตาม (1) กับธนาคาร บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ นายจ้างซึ่งมีระเบียบเกี่ยวกับเงินกองทุนที่จัดสรรไว้เพื่อสวัสดิการแก่ลูกจ้าง บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยหรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินและกองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้ยังคงได้รับยกเว้นภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท

                         ข้อ 3  ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามข้อ 2  ให้หมายความรวมถึงดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย หรือห้องชุดด้วย ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมเพื่อชำระหนี้ส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระนั้น

                         “ข้อ 4  การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานจากเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืมที่พิสูจน์ได้ว่า ได้มีการจ่ายดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินด้วย เว้นแต่
                                    (1) กรณีการจ่ายดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินที่ได้เริ่มทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป ผู้มีเงินได้ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืม
                                    (2) กรณีการจ่ายดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินที่ได้ทำสัญญาก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 หากผู้มีเงินได้เลือกไม่แจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืม ผู้มีเงินได้ต้องมี    หลักฐานจากเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืมที่พิสูจน์ได้ว่ามีการจ่ายดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมเงินนั้น”
(แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 398)ฯ ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2564 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป) 
                                    “ข้อ 4/1 เจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืมที่ได้รับแจ้งความประสงค์ตามข้อ 4 ต้องส่งข้อมูลของผู้มีเงินได้  ต่อกองเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมสรรพากร โดยจัดทำขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ตามรูปแบบและนำส่งตามวิธีการที่กำหนดบนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th
                                                การแจ้งและการส่งข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ให้แจ้งภายในวันที่ 15 มกราคมของปีถัดไป  เว้นแต่อธิบดีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
                                                กรณีเจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืมได้แจ้งและส่งข้อมูลตามวรรคสองแล้ว แต่มีความประสงค์จะขอแก้ไข  ยกเลิก หรือเพิ่มเติมข้อมูลดังกล่าวนั้น ให้เจ้าหนี้ผู้ให้กู้ยืมดังกล่าวแจ้งและส่งข้อมูลผ่านระบบรับข้อมูล ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเกินกำหนดเวลาบนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร
(แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 398)ฯ ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2564 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป)

                         ข้อ  5 ในกรณีที่ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนตามมาตรา  47(1)(ซ)  แห่งประมวลรัษฎากร  หรือได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ตาม  (52)  หรือ  (53)  ของข้อ  2  แห่งกฎกระทรวงฉบับที่  126  (พ.ศ. 2509)  ออกตามความในประมวลรัษฎากร  ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง  ฉบับที่  264  (พ.ศ.  2550)  ออกตามความในประมวลรัษฎากร  ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้  เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามข้อ  2  เมื่อรวมกับค่าลดหย่อนตามมาตรา  47(1)(ซ)  แห่งประมวลรัษฎากร หรือเงินได้ตาม  (52)  หรือ  (53)  ของข้อ  2 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่  126  (พ.ศ.  2509)  ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง  ฉบับที่  264  (พ.ศ.  2550)  ออกตามความในประมวลรัษฎากร  ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร  แล้วแต่กรณี  ต้องไม่เกิน  100,000  บาท

                        ข้อ 6  การได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศนี้  ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา  40  แห่งประมวลรัษฎากร  เมื่อได้หักตามมาตรา  42  ทวิ  ถึง  มาตรา  46  แห่งประมวลรัษฎากร  แล้ว

                        ข้อ 7  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่  1  มกราคม  พ.ศ.  2550  เป็นต้นไป 

 

ประกาศ    ณ    วันที่  2  มกราคม   พ.ศ.  2551

 

ศานิต  ร่างน้อย

(นายศานิต  ร่างน้อย)

อธิบดีกรมสรรพากร

          

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022