เมนูปิด
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 169)
เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้
หุ้นระยะยาว
----------------------------------------------------------
 
                  อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2(66) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 266 (พ.ศ. 2551) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวและการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ดังต่อไปนี้
 
                  ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 133) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ลงวันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2547
 
                  ข้อ 2 เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมาย ว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขดังนี้
                          “(1) ผู้มีเงินได้ต้องซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวมีจำนวนรวมกันไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น”
                          (แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 257) ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป)
                              “ในปีภาษี 2551 หากผู้มีเงินได้มีการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551 หรือได้ซื้อหน่วยลงทุนระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2551 และได้มีการซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มเติมระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ให้เงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามวรรคหนึ่งเท่ากับส่วนที่ไม่เกิน 700,000 บาทแต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินสำหรับปีภาษี 2551 ”
                          (แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 175) ใช้บังคับ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป)
                          (2) ผู้มีเงินได้จะต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน แต่ไม่รวมถึงกรณีผู้มีเงินได้ไถ่ถอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว เพราะทุพพลภาพหรือตาย                  
                          กรณีทุพพลภาพ ต้องเป็นกรณีที่แพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจและแสดงความเห็นว่า ผู้ถือหน่วยลงทุนทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพซึ่งก่อให้เกิดเงินได้ที่จะนำมาซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวได้อีกต่อไป
                  ข้อ 3  กรณีผู้มีเงินได้ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวเกินกว่าหนึ่งกองทุนเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวในแต่ละกองทุนที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามข้อ 2
                          “การซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามวรรคหนึ่ง ต้องมีจำนวนรวมกันไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น”
                          (แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 257) ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป)
                          “ในปีภาษี 2551 การซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามวรรคหนึ่งระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551 หรือได้ซื้อหน่วยลงทุนระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2551 และได้มีการซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มเติมระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ต้องมีจำนวนรวมกันไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษี 2551 ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 700,000 บาท”
                          (แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 175) ใช้บังคับ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป)
 
                  ข้อ 4 กรณีผู้มีเงินได้ได้โอนการลงทุนในหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวทั้งหมดหรือบางส่วนไปยังกองทุนรวมหุ้นระยะยาวอีกกองทุนหนึ่ง ไม่ว่าจะโอนไปยังกองทุนรวมหุ้นระยะยาวกองทุนเดียวหรือหลายกองทุน ผู้มีเงินได้จะต้องโอนการลงทุนไปยังกองทุนรวมหุ้นระยะยาวนั้นภายใน5 วันทำการนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่กองทุนรวมหุ้นระยะยาวที่โอนได้รับคำสั่งโอนจากผู้มีเงินได้ จึงจะถือว่าระยะเวลาในการถือหน่วยลงทุนในกรณีดังกล่าวมีระยะเวลาต่อเนื่องกัน
                          การโอนการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามวรรคหนึ่ง กองทุนรวมหุ้นระยะยาวที่ได้รับคำสั่งโอนจากผู้มีเงินได้ จะต้องจัดทำเอกสารหลักฐานการโอนส่งมอบให้แก่กองทุนรวมหุ้นระยะยาวที่รับโอนเก็บไว้เป็นหลักฐานพร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้
 
                  “ข้อ 5 การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนตามข้อ 2 และข้อ 3 ให้ยกเว้นเท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 500,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น และผู้มีเงินได้ดังกล่าวต้องเป็นบุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล และกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง”
                          (แก้ไขโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 257) ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นต้นไป)
                          “ในปีภาษี 2551 หากผู้มีเงินได้มีการซื้อหน่วยลงทุนตามวรรคหนึ่งระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551 หรือได้ซื้อหน่วยลงทุนระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2551 และได้มีการซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มเติมระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ให้ยกเว้นเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้ จะต้องมีจำนวนไม่เกิน 700,000 บาท สำหรับปีภาษี 2551”
                          (แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 175) ใช้บังคับ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป)
 
                  ข้อ 6 การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมที่แสดงได้ว่ามีการจ่ายเงินเข้ากองทุนรวมหุ้นระยะยาวดังกล่าว
 
                  ข้อ 7 กรณีผู้มีเงินได้ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว และได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 5 แล้ว และต่อมาได้ปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของข้อ 2 หรือข้อ 3 ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 5 แต่ไม่รวมถึงกรณีที่ผู้มีเงินได้ไถ่ถอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวเพราะทุพพลภาพหรือตาย ผู้มีเงินได้ต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนไปหักออกจากเงินได้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้วที่อยู่ในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของปีภาษีนั้น ๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมเพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีดังกล่าว พร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
 
                          ในกรณีที่มีการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมหุ้นระยะยาวซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามข้อ 2 หรือข้อ 3 การคำนวณต้นทุนผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหน่วยลงทุน (capital gain) เพื่อเสียภาษีในกรณีดังกล่าวให้คำนวณโดยวิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO)
 
                  ข้อ 8 การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
 
                  ข้อ 9 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2551 เป็นต้นไป
 
ประกาศ ณ วันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2551
 
วินัย วิทวัสการเวช
(นายวินัย วิทวัสการเวช)
อธิบดีกรมสรรพากร

 

ปรับปรุงล่าสุด: 10-02-2022