เมนูปิด
Untitled Document
เลขที่หนังสือ: กค 0702/1323
วันที่: 19 กุมภาพันธ์ 2552
เรื่อง: ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขายหน่วยลงทุนคืนให้กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
ข้อกฎหมาย: มาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร
ข้อหารือ          นาย พ. ซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2547 และได้ลงทุนอย่างต่อเนื่องมา โดยตลอด ซึ่งภายหลังวันที่ 1 มีนาคม 2551 ได้ซื้อหน่วยลงทุนใหม่และมีความประสงค์จะไถ่ถอนหน่วยลงทุน ที่ได้ซื้อไว้ในครั้งแรกและที่ได้ซื้อไว้ภายหลังวันที่ 1 มีนาคม 2551 ดังกล่าวทั้งหมด (ทั้งที่ซื้อไว้ในครั้งแรกและ ภายหลังวันที่ 1 มีนาคม 2551) ในวันที่ 12 เมษายน 2552 ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนด 5 ปี ของการซื้อหน่วย ลงทุนดังกล่าว จึงขอทราบว่า การไถ่ถอนหน่วยลงทุนดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษีจากกำไรทั้งจำนวน และ ไม่ต้องคืนสิทธิประโยชน์ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าวย้อนหลัง ใช่หรือไม่ อย่างไร
แนววินิจฉัย          กรณีนาย พ. ได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งแรก เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2547 และหลังวันที่ 1 มีนาคม 2551 ได้ซื้อหน่วยลงทุนเพิ่ม และจะขายหน่วยลงทุนดังกล่าวทั้งหมดคืนให้แก่กองทุน RMF ในวันที่ 12 เมษายน 2552 แยกพิจารณาได้ดังนี้
          1. กรณีผู้ซื้อหน่วยลงทุนได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2547 โดยได้ซื้อติดต่อ กันทุกปีและได้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก ต่อมามี ความประสงค์จะขายหน่วยลงทุน RMF สำหรับหน่วยลงทุนที่ซื้อมาก่อนวันที่ 1 มีนาคม 2551 โดยในขณะที่ขาย หน่วยลงทุนนั้น ผู้มีเงินได้มีอายุไม่ครบ 55 ปีบริบูรณ์ กรณีถือได้ว่าผู้มีเงินได้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่ น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก เงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนดังกล่าว และเงินหรือ ผลประโยชน์ใดๆ ที่ผู้มีเงินได้ได้รับจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนดังกล่าว จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา หากการซื้อและการขายหน่วยลงทุน RMF เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ตามข้อ 2 (55) และ (65) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90)ฯ ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2544 ผู้มีเงินได้ก็ย่อมมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่าย เป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF ในปีภาษีที่ได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF และได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับ เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากการขายหน่วยลงทุนนั้น ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายดังกล่าว
          2. กรณีการซื้อหน่วยลงทุน RMF ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2551 ผู้มีเงินได้ต้องซื้อและถือหน่วยลงทุน RMF ให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ตามข้อ 2 (55) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509)ฯ และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 171) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2551 กรณีผู้มีเงินได้ขายคืนหน่วยลงทุน RMF ดังกล่าว เมื่อถือหน่วยลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก แต่ผู้มีเงินได้อายุยังไม่ครบ 55 ปีบริบูรณ์ ย่อมไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน RMF ในปีที่ซื้อแต่อย่างใด สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากการขายหน่วยลงทุน RMF ดังกล่าวเมื่อถือหน่วยลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขตามข้อ 2 (65) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509)ฯ และประกาศอธิบดี กรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 170) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ.2551 ย่อมมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขของกฎหมายดังกล่าว
เลขตู้: 72/36425

 

ปรับปรุงล่าสุด: 22-05-2020